Head GISDTDA

STSC COPOUS 2024 ตอน 2 ขยะอวกาศ กับข้อท้าทายต่อการใช้อวกาศและวงโคจรอย่างยั่งยืน

จากต้นทุนการสร้างและการนำส่งดาวเทียมที่ถูกลง นำไปสู่การเพิ่มจำนวนของดาวเทียมในวงโคจรขึ้นอย่างรวดเร็ว ดาวเทียมขนาดเล็กจำนวนมากไม่มีระบบขับเคลื่อน จึงไม่สามารถถูกกำจัดออกจากวงโคจรได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน การระเบิดหรือการชนกันของวัตถุอวกาศแค่ 1 หรือ 2 ชิ้น ก็สร้างเศษชิ้นส่วนแตกหักนับร้อยนับพันชิ้น และเศษแตกหักแต่ละชิ้นเหล่านี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการชนและสร้างขยะอวกาศให้ทวีขึ้นในวงโคจรเป็น chain-reaction ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันวงโคจรโลกที่เป็นทรัพยากรที่จำกัด ถึงแม้ไม่มีการส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปก็ยังมีโอกาสที่วัตถุอวกาศที่มีอยู่แล้วจะเกิดการชนกัน และเป็นไปได้ว่าในระยะเวลาหนึ่ง มนุษย์อาจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากวงโคจรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่าง Low Earth Orbit หรือ Geostationary orbit ได้อีกต่อไป

คณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค หรือ Scientific and Technical Subcommittee of COPUOS (STSC) ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (COPUOS) มีความพยายามในการจัดการกับปัญหาขยะอวกาศตั้งแต่ปี 1994 ผ่านการศึกษาและพัฒนา Space Debris Mitigation Guidelines ของ COPUOS หลายเวอร์ชันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อปฏิบัติร่วมกันในการบรรเทาปัญหาขยะอวกาศ หลายประเทศได้นำหลักการไปบังคับใช้ในประเทศ เช่น การผลักดันให้ดาวเทียมทุกประเภทที่ส่งขึ้นไปใน Low Earth Orbit ต้อง re-entry ภายใน 5 ปี เป็นต้น ซึ่งประเทศใหญ่ๆ ได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้ง ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำ Space Debris Mitigation Guidelines ของ Inter-Agency Space Debris Coordination Committee ไปใช้ด้วย

นอกจากการกำหนดแนวปฏิบัติแล้ว การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาขยะอวกาศเป็นอีกทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ การปฏิบัติการด้านการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (SSA และ STM) มีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ดาวเทียมหลีกเลี่ยงการชนทั้งกับดาวเทียมด้วยกันเองและขยะอวกาศที่อยู่ในวงโคจร และการวิเคราะห์ตำแหน่งความเสี่ยงของวัตถุอวกาศที่กำลังจะ re-entry เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสี่ยง หากชิ้นส่วนขยะอวกาศตกบริเวณที่ประชากรอาศัยอยู่ หรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศไทย การเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถและความปลอดภัยในการดำเนินภารกิจอวกาศและป้องกันไม่ให้เกิดขยะอวกาศเพิ่มขึ้น

ขณะนี้หลายประเทศสนับสนุนให้มีการแชร์ข้อมูลการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ และเรียกร้องให้มีกลไกแบบผูกมัดทางกฎหมายในเรื่องการบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ รวมถึงมีการเสนอให้ตั้งหน่วยงานการระหว่างประเทศเพื่อควบคุมดูแลการจราจรทางอวกาศโดยเฉพาะ โดยใช้โมเดลคล้ายกับ International Civil Aviation Organization (ICAO) จากทางฝั่งการบิน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมวางแผนสำหรับภายในประเทศและแนวทางเพื่อการรับมือในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ขยะอวกาศเป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์อวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในวงโคจร ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ต้องทำการควบคุมให้ดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศหลบหลีกขยะอวกาศหรือวัตถุอวกาศอื่นๆ บ่อยกว่าที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังมุ่งมั่นจะตั้งสถานีอวกาศของตนเอง และได้คำนึงถึงอันตรายข้อนี้ และเสนอให้วงโคจรช่วงความสูง 370 – 430 km เหนือพื้นโลกเป็นวงโคจรที่สงวนสำหรับไว้ใช้กับภารกิจนักบินอวกาศ (human spaceflight missions) โดยเฉพาะ โดยการหลีกเลี่ยงการส่งดาวเทียมในช่วงวงโคจรดังกล่าว รวมทั้ง ดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรนี้ต้อง re-entry หลังหมดอายุการใช้งานให้เร็วที่สุด และดาวเทียมเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการทดลองต้องอยู่ในชั้นวงโคจรที่ต่ำกว่า ในขณะที่ดาวเทียมสำหรับการใช้งานต้องอยู่ในระดับสูงขึ้นไป

วงโคจรของโลกเป็นทรัพยากรทุกคนควรสามารถใช้ประโยชน์ได้ การที่ประเทศพัฒนาแล้วส่งดาวเทียมจำนวนหลักหมื่นดวงขึ้นสู่วงโคจรและจับจองพื้นที่รวมถึงคลื่นความถี่ไว้แล้ว เป็นประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นประเทศไทยควรจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งดาวเทียมของไทยในแต่ละปีจะน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศขนาดใหญ่ แต่ไทยสามารถเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ใช้อวกาศอย่างยั่งยืน คุ้มค่า และไม่ทำให้วงโคจรเสียหายด้วยการทำให้เกิดขยะอวกาศที่จะสร้างอันตรายให้กับวัตถุอวกาศอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ในอนาคตเมื่อประเทศไทยสามารถสร้างหรือส่งดาวเทียมได้มากขึ้น จะยังคงมีวงโคจรที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์และสามารถสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้สามารถใช้ประโยชน์ได้

สำหรับในโพสถัดไป จะมีการพูดถึงข้อริเริ่ม Access to Space for All ของ UNOOSA ข้อริเริ่มเพื่อสร้างเสริมขีดความสามารถให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอวกาศ ติดตามกันนะครับ

#GISTDA #อว #COPUOS #STSC #STSCCOPOUS2024 #ScientificandTechnicalSubcommittee #อวกาศกับอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศ

phasaphong.tha 22/3/2024 100 0
Share :