Head GISDTDA

ชั้นต้องอยู่ตรงไหน??? เธอถึงจะมองเห็น

ปัจจุบันการทำแผนที่สะดวกสบายมากกว่าเมื่อก่อนมากที่ต้องเริ่มต้นจากการลงไปสำรวจพื้นที่จริงด้วยบุคคลและนำข้อมูลกลับมาวาดลงเป็นแผนที่ ซึ่งค่อนข้างใช้เวลานานและมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้สูง แต่ในปัจจุบันได้มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมองผ่านมุมมองจากอวกาศ เพื่อถ่ายภาพบนพื้นผิวโลก แล้วส่งกลับมายังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน ซึ่งจะสามารถแสดงรายละเอียดบนพื้นผิวโลกได้ในบริเวณกว้าง และยังแสดงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนพื้นผิวโลกได้เป็นระยะๆ ตามช่วงเวลาการบันทึกภาพของดาวเทียม และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่ง “ข้อมูลภูมิสารสนเทศ” นั่นเอง

ข้อมูลภูมิสารสนเทศมีหลายประเภทและมักจะมีความแตกต่างกันออกไป การนำมาใช้งานจะต้องแยกข้อมูลออกเป็นชั้นๆ ซ้อนทับกัน ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึง เค้กเลเยอร์ ที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ

แล้วชั้นของข้อมูลภูมิสารสนเทศจะต้องมีการเรียงซ้อนกันอย่างไรเราถึงจะได้เห็นข้อมูลที่ชัดเจน ???
ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ข้อมูลภูมิสาสตร์ส่วนมากจะมีการแยกออกมาเป็นชั้นๆ เช่นเดียวกับ เค้กเลเยอร์ โดยในแต่ละเลเยอร์ (layer) นั้นจะเป็นชั้นข้อมูล ที่ใช้แสดงในเรื่องหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น
ชั้นที่ 1 ข้อมูลขอบเขตจังหวัด
ชั้นที่ 2 ข้อมูลที่อยู่อาศัย
ชั้นที่ 3 ข้อมูลพื้นที่เกษตร
ชั้นที่ 4 ข้อมูลเส้นถนน
ชั้นที่ 5 ข้อมูลพื้นที่ป่า
ชั้นที่ 6 ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ ฯลฯ

ชั้นข้อมูลเหล่านี้ อ้างอิงกันเชิงพื้นที่ โดยใช้ตำแหน่งบนผิวโลกร่วมกันกับระบบพิกัดชุดหนึ่ง เช่น ใช้ละติจูดและลองจิจูดของระบบพิกัดภูมิศาสตร์ การแยกเก็บข้อมูลเป็นชั้นๆ ทำให้สะดวกเวลาใช้งาน โดยสามารถเลือกใช้ชั้นข้อมูลที่ต้องการ เช่น หากเราต้องการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เสียหายจากการเกิดไฟป่า เราก็สามารถเลือกเฉพาะชั้นข้อมูลแผนที่
ชั้นที่ 1 ขอบเขตจังหวัด
ชั้นที่ 2 ข้อมูลพื้นที่ป่า
ชั้นที่ 3 ข้อมูลพื้นที่เกษตร
ชั้นที่ 4 ข้อมูลพื้นที่อยู่อาศัย
ชั้นที่ 5 ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้

มาซ้อนทับกัน และเลือกดึงข้อมูลทั้งหมดที่ซ้อนทับกับพื้นที่เผาไหม้ มาแสดงเป็นผลลัพธ์
เราก็จะสามารถทราบได้ว่า พบไฟป่าอยู่ในจังหวัดอะไรบ้าง มีป่าไม้ พื้นที่เกษตร หรือที่อยู่อาศัย ที่เสียหายเป็นพื้นที่เท่าไร ตรงบริเวณไหนบ้าง เป็นต้น

ซึ่งเราจะต้องเรียงชั้นของข้อมูลให้ถูกต้อง เพื่อการแสดงผลออกมาให้ชัดเจน และเลือกลักษณะการแสดงผลให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่น แบบโปร่งใส แบบสีและลวดลาย หรือหากเราต้องการทราบพื้นที่เสียหายของพื้นที่เผาไหม้ แต่เราเลือกข้อมูลพื้นที่เผาไหม้เป็นชั้นล่างสุด และ เลือกข้อมูลขอบเขตจังหวัดแบบสีทึบวางไว้ด้านบน ดังนั้น เวลาเรานำข้อมูลมาแสดงเป็นผลลัพธ์จะไม่สามารถทราบพื้นที่เสียหายด้านล่างได้เลย เนื่องจากข้อมูลขอบเขตจังหวัดจะไปบดบัง ควรจะให้ขอบเขตจังหวัดด้านบนเป็นแบบโปรงใสมีเฉพาะเส้นขอบ เป็นต้น เพราะฉนั้น การเรียงชั้นข้อมูล และการเลือกลักษณะการแสดงผลจึงสำคัญมาก ต้องเรียงให้ถูก จัดลำดับให้ดี ไม่แย่งซีนกัน ถึงจะแสดงผลลัพธ์ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การซ้อนทับของชั้นข้อมูลดังกล่าว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานต่างๆได้อีกด้วย อาทิ ที่ดินด้านการเกษตร ป่าไม้ ภัยพิบัติ สาธารณสุข สาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ผังเมืองและการใช้ที่ดิน เป็นต้น
#GISTDA #จิสด้า #อวกาศ #ข้อมูลจากดาวเทียม #ข้อมูลภูมิสารสนเทศ #เทคโนโลยีอวกาศ #spaceagency

phasaphong.tha 22/6/2023 1
Share :