Head GISDTDA

GISTDA เป็นผู้แทนไทยร่วมประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคว่าด้วยการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ สมัยที่ 60 ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

GISTDA เป็นผู้แทนไทยร่วมประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคว่าด้วยการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ สมัยที่ 60 ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
.
เมื่อวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา GISTDA เป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค สมัยที่ 60 (60th Scientific and Technical Subcommittee, 60th STSC) ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติ (United Nations Committee on the Peaceful Uses of Outer Space, COPUOS) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
.
การประชุม STSC ภายใต้ COPUOS มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในการดำเนินการของประเทศต่างๆ การเข้าร่วมหารือในคณะทำงานต่างๆ
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ภาพรวมของการดำเนินกิจการด้านอวกาศของไทยในรอบปีที่ผ่านมา (2) การวิจัยและพัฒนาด้านการบริหารจัดการวัตถุอวกาศ (space debris) และสภาวะอวกาศ (space weather) และ (3) การปฏิบัติตามแนวทางการใช้อวกาศอย่างยั่งยืน (Guidelines for the Long-term Sustainability of Outer Space, LTS) ของ COPUOS โดยสาระสำคัญเป็นการนำเสนอความคืบหน้าด้านการดำเนินกิจการอวกาศ การลำดับความสำคัญ และทิศทางทางการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อกิจกรรมด้านอวกาศ
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานข้อริเริ่มด้านสภาวะอวกาศระดับนานาชาติ (International Space Weather Initiative, ISWI) เป็นครั้งแรกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านสภาวะอวกาศกับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีด้านสภาวะอวกาศภายใต้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Research Center, S-TREC) ของGISTDA ที่อยู่ระหว่างการจัดตั้ง National Space Data Center เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านสภาวะอวกาศ รวมไปถึงการต่อยอดซอฟต์แวร์ “ZIRCON” ซึ่งพัฒนาโดยวิศวกร GISTDA สำหรับใช้ในการติดตามและแจ้งเตือนการชนที่อาจเกิดขึ้นกับดาวเทียมและทรัพย์สินในอวกาศ อื่นๆ ของไทย รวมถึงการป้องกันและบรรเทาผลกระทบของวัตถุอวกาศที่มีโอกาสตกกลับมาสู่โลกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่แผ่นดินไทยอีกด้วย
.
เมื่อปี 2548 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิก COPUOS และมอบหมายให้ GISTDA เป็นหน่วยงานกลางของไทยในการประสานและแลกเปลี่ยนกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ภายใต้ COPUOS โดยนับตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทย โดย GISTDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ,การประชุมคณะอนุกรรมการและการประชุมคณะทำงานต่างๆ ภายใต้ COPUOS มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

Nattakarn Sirirat 10/2/2023 0
Share :