Head GISDTDA

Yo! และนี่คือเสียงจากอวกาศ ชวนดูเทรน์อวกาศโลกและประเทศไทยอยู่ตรงไหน

  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสความสนใจในการเดินทางท่องอวกาศเป็นที่จับตามองมากขึ้นเรื่อย ๆ จากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างก็มีภารกิจมุ่งหน้าไปดวงจันทร์ รวมถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริการหรือนาซา (NASA)  ก็เริ่มโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) และกำลังสนับสนุนภารกิจอีกหลายอย่างเพื่อเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการส่งมนุษย์ขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า พวกเขากำลังเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในอวกาศกันไม่น้อยทีเดียว

เทรนด์อวกาศโลก กับโอกาสในอนาคต
เทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดขึ้นของนวัตกรรมในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีจากโครงการกระสวยอวกาศของนาซา ได้ถูกต่อยอดพัฒนามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตั้งแต่ กระจกนิรภัย ไฟแอลอีดี เช่นเดียวกับ การแพทย์ทางไกลที่ช่วยชีวิตผู้คนช่วงระบาด ล้วนต่อยอดจากเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น โดยนิตยสารฟอร์บสประเมินว่า ปี 2022 จะมี 5 เทรนด์เทคโนโลยีอวกาศที่ช่วยให้การเดินทางไปนอกโลกก้าวหน้าขึ้นมาก รวมถึงเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์บนโลกให้สะดวกยิ่งขึ้น 
   - การใช้จรวดรียูส ที่ผู้พัฒนาจรวดต่างมุ่งพัฒนาระบบยิงแบบใช้ซ้ำได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางออกจากชั้นบรรยากาศโลก  เช่น จรวด New Glenn ของบลูออริจิน ซึ่งพัฒนาและออกแบบให้ใช้งานได้ถึง 25 ครั้ง โดยสามารถบรรทุกคนและสินค้ามากกว่าจรวดคู่แข่ง
  - การกลับไปเหยียบดวงจันทร์ หลังจากผ่านมากว่าสี่ทศวรรษโดย นีล อาร์มสตรอง โดยตั้งเป้าปักธงอาณานิคมบนดาวอังคาร จากการเริ่มต้นตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้โลกกว่า ทำให้มนุษย์ทดสอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ ก่อนไปดาวอังคาร
  - การสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ที่ต้นทุนการส่งดาวเทียมสู่วงโคจรจะถูกลง พร้อมประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งสามารถปล่อยได้ทีละหลายดวงต่อการยิงจรวดหนึ่งครั้ง นั่นหมายความว่าแม้เป็นบริษัทสตาร์ตอัพก็สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
  - คลีนนิ่งอวกาศ จากการพัฒนาและแข่งขันด้านอวกาศ ทำให้เกิดซากขยะอวกาศไม่น้อยกว่า 8,000 ตัน นอกวงโคจรโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อภารกิจในอนาคต องค์กรอวกาศในหลายประเทศจึงต่อยอดธุรกิจเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ช่วยจัดการขยะเหล่านี้
  - เทคโนโลยีอวกาศกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลทั่วโลกต่างมุ่งลงทุนนวัตกรรมอวกาศมากขึ้น เพื่อจัดการกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

แล้ววงการอวกาศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและหุ่นยนต์ในไทยเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจมากขึ้นในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีศักยภาพที่ถือว่าอยู่ในอันดับต้นของประเทศเกิดใหม่ที่ทำงานด้านอวกาศ (Emerging Space Country) ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศไทย ที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ นอกจากการขับเคลื่อนโครงการดาวเทียม THEOS-2 แล้ว รัฐบาลยังจัดทำร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในพื้นที่อีอีซีอีกด้วย

โอกาสของประเทศไทยในวงการอวกาศโลก
คาดการณ์ว่าภายใน 7 ปีจะมีบริษัทไทยกว่า 50 บริษัท เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอวกาศ อย่างไรก็ตามไม่ใช่เฉพาะการสร้างยานอวกาศ หรือดาวเทียมเท่านั้น แต่เทคโนโลยีอวกาศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อาหาร เกษตรกรรม เหมืองแร่ทรัพยากรและพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการแพทย์ และรวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

Nanfa Sangnakorn 19/4/2023 0
Share :