Head GISDTDA

ไทยทำ ไทยใช้ ไทยส่งออก ถึงเวลา "สร้างดาวเทียมเอง" โดยบุคลากรและผู้ประกอบการในประเทศ

  อีกไม่นานประเทศไทยจะได้ส่งออก "ดาวเทียมสำรวจโลก" THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2)  และ THEOS-2A ดาวเทียมดวงแรกของไทยในระดับ Industrial Grade หรือ ผลงานจาก 20 วิศวกรชาวไทยจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อปฏิบัติภารกิจบันทึกสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประเมินความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ บริหารความมั่นคง รวมถึงพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อช่วยเหลืองานในด้านการบริหารทรัพยากรการเกษตรและน้ำ ระบบนิเวศ จนไปถึงระบบวางผังเมือง จากการใช้งานในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจที่ช่วยในด้านการจัดการทรัพยากรและพื้นที่เพื่อพัฒนาประเทศในภาพรวม สำหรับโครงการล่าสุดของวงการอวกาศไทยอย่าง THEOS-3 ได้เริ่มดำเนินการขึ้นแล้วในปีนี้ โดย GISTDA ยังมุ่งมั่นผลิตดาวเทียมด้วยความสามารถของคนไทย และที่เพิ่มเติมในโครงการนี้คือดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 จะยังเน้นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ผู้ใช้งานที่ส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อให้บริการประชาชน และต่อยอดการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในไทยมากขึ้น รวมถึงพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ร่วมมือสร้างดาวเทียมที่จะมอบคุณค่าให้สาธารณประโยชน์ และผลักดันขีดจำกัดความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มด้านอวกาศเชิงลึกภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย โดยความคืบหน้าของโครงการนี้ ได้มีการรวบรวมความต้องการการใช้ข้อมูลดาวเทียม และร่วมหารือระหว่างผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและมองหาจุดมุ่งหมายร่วมกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

ทำไมจึงต้องมี "ระบบนิเวศ" สำหรับเศรษฐกิจอวกาศ?
  ทุกคนคงคุ้นเคยกับระบบนิเวศของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือระบบนิเวศของอุปกรณ์สื่อสารในชีวิตประจำวัน ที่ทุกองค์ประกอบในระบบล้วนสัมพันธ์กัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศให้กับเศรษฐกิจอวกาศ จึงเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานขององค์ประกอบต่างๆ ให้แข็งแรง พร้อมที่จะเป็นฟันเฟืองพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมให้มาตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการในประเทศ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพัฒนาบุคคลากรและองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีอวกาศให้กับบุคคลกรในประเทศไทย พัฒนาประเทศทั้งในเชิงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจ รวมไปถึงการสนับสนุนความยั่งยืนอันเป็นวาระที่เร่งด่วนและสำคัญระดับนานาชาติ

โครงการสร้างดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 – ตัวแทนสะท้อนหมุดหมายครั้งใหม่ของประเทศไทย
  จากอวกาศที่อยู่แสนไกลตัวเรา สู่อรรถประโยชน์มากมายรอบตัวที่ส่งผลต่อหลากหลายมิติในการใช้ชีวิต ตั้งแต่เชิงโครงสร้างจนถึงระดับบุคคล องค์ประกอบใหม่ล่าสุดในระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศ THEOS-3 คือนวัตกรรมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอวกาศใหม่ (New Space Ecosystems) ก้าวใหม่ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศไทย ที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับบทบาทการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอวกาศของหน่วยงานดังกล่าว เอื้อให้สามารถร่วมสร้างเทคโนโลยีใหม่อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและหน่วยงานแต่ละภาคส่วนไปพร้อม ๆ กัน นับเป็นอีกก้าวที่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศไทยจะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ขับเคลื่อนระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศให้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาการประมง เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม การคาดการณ์และป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้า และแง่มุมที่สำคัญอีกหนึ่งประการจากโครงการสร้างดาวเทียมสำรวจในครั้งนี้ก็คือการส่งเสริมและผลักดันขีดความสามารถของหน่วยงานจากประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล

ขอบคุณข้อมูลจากคุณคุณลิขิต วรานนท์ และคุณชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกรดาวเทียม THEOS-2A

Nanfa Sangnakorn 21/4/2023 0
Share :