Head GISDTDA

THEOS-2 สร้างคน เสริมระบบนิเวศ พัฒนาอุตสาหกรรม วงการอวกาศไทย

  THEOS-2 ไม่ใช่เพียงการจัดหาดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปและบริหารเชิงพื้นที่ของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ

ย้ำกันอีกครั้ง ประเทศไทย ทำไมต้องมี THEOS-2?

   หน้าที่หลักของ THEOS-2 คือดาวเทียมสำรวจโลก ทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจด้านนโยบายต่าง ๆ บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมของหลากหลายหน่วยงานในประเทศ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน สร้างความแข็งแกร่งในการต่อยอดทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ นอกจากนี้ โครงการ THEOS-2 ยังช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมถึงสร้างงานในอนาคต โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง

Theos-2 กับภารกิจพัฒนาชาติ

  โครงการดำเนินงานของดาวเทียม THEOS-2 แบ่งเป็น 3 คือ โครงการพัฒนาดาวเทียมหลัก (THEOS-2) หรือ Main satellite ขนาด 425 กิโลกรัม 1 ดวง เป็นดาวเทียมปฏิบัติการที่สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง เพื่อการใช้งานด้านการติดตามพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานด้านความมั่นคง และการบริหารจัดการเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในภาวะวิกฤต ส่วนดาวเทียม THEOS-2A มีขนาด 100 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาตรฐานระดับ industrial grade ดวงแรกของไทยที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน และได้พัฒนาร่วมกับองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก พร้อมปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566
   นอกจากนี้ โครงการมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานภูมิสารสนเทศขั้นสูง ในการจัดหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการผสมผสานของโซลูชั่น (Integrated Solutions) ใน 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านผลประโยชน์ทางสังคมและความมั่นคง (2) ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ (4) ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม (5) ด้านการจัดการภัยพิบัติ (6) ด้านการจัดการเกษตร ที่จะสามารถนำไปร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างนโยบายในระดับชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำเร็จของ THEOS-2 จากพลังของทีมไทยแลนด์ 

  THEOS-2 เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการจัดหาดาวเทียมทดแทน ‘ไทยโชต’ ที่ใช้มาจนครบระยะถึงประมาณ 15 ปี และขยายโอกาสจากโครงการไปสู่การพัฒนาบุคลากรในวงการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรม เสริมสร้างให้คนในประเทศมีองค์ความรู้ ต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านโครงการอบรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยกระดับอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตดาวเทียม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและสร้างดาวเทียมได้เองในประเทศ ทั้งหมดนี้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม นับเป็นก้าวสำคัญของวงการเทคโนโลยีอวกาศไทย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 New S-Curve อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แห่งอนาคตที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ และคาดหวังให้ทุกคนติดตามความก้าวหน้านี้ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกรดาวเทียม THEOS-2A

Nanfa Sangnakorn 22/4/2023 0
Share :