Head GISDTDA

วงการอวกาศ พื้นที่หลากหลายเปิดโอกาสให้คนทุกสายอาชีพ

  อวกาศเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่งานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเฉพาะสายวิทย์อย่างเดียวเท่านั้น ด้านสายศิลป์ก็สามารถใกล้ชิดอวกาศได้เช่นกัน วันนี้แอดมินจะพาไปดูเพิ่มเติมกันครับว่า มีโอกาสทางอาชีพแบบไหนบ้างในวงการอวกาศที่รอคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงาน

เทรนด์การทำงานวงการอวกาศ
ปัจจุบันในวงการอวกาศและเทคโนโลยี กำลังพูดถึงเรื่องอวกาศยุคใหม่ (New Space) ซึ่งหมายถึงกิจการอวกาศที่ถูกเปิดเข้าสู่ระบบธุรกิจ (Commercial Space) จากเดิมเคยถูกมองว่าเป็นกิจการของรัฐและถูกผูกขาดไว้ได้ถูกปลดล็อกสู่การเปิดเสรี สามารถระดมทุนมาพัฒนากิจการอวกาศให้ก้าวหน้าได้เร็วกว่าเดิม ดีกว่าเดิม เข้าสู่ตลาดด้วยต้นทุนที่ต่ำลงทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มการแข่งขันในกิจการดาวเทียมและอวกาศในศตวรรษที่ 21 มีความเกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยจะเห็นการเกิดขึ้นของกิจการใหม่ๆ หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดส่งดาวเทียม จากเดิมที่ใช้ดาวเทียมขนาดใหญ่ ราคาสูง แต่ปัจจุบันนี้ มีดาวเทียมขนาดเล็กเรียกกันว่า คิวบ์แซท (Cube Sat), ดาวเทียมเล็ก (Small Satellite) ที่ต้นทุนไม่ถึงล้านบาท น้ำหนักไม่มาก ยิงแค่ระดับวงโคจรต่ำได้ ซึ่งจะทำให้เกิดกิจการใหม่ที่รับยิงดาวเทียมได้พร้อมกันจำนวนหลายร้อยจนถึงหมื่นดวง เมื่อพูดถึงธุรกิจดาวเทียม มีทั้งดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมบรอดแบรนด์ ที่ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมผู้ใช้งานปลายทางได้ รวมทั้งดาวเทียมนำทาง ที่สร้างธุรกิจใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

อาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการอวกาศ
ความตื่นตัวทางด้านอวกาศของคนไทยทุกวันนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ถ้าถามว่าแล้วอาชีพที่เกี่ยวกับอวกาศมีอะไรบ้าง หลายคนคงนึกถึง “นักบินอวกาศ” อย่างแน่นอน แต่จริง ๆ ยังมีอาชีพอื่นที่จะได้มีโอกาสรู้จักและทำงานกับอวกาศอย่างใกล้ชิด นอกจากนักบินอวกาศ เช่น อาชีพด้านงานวิศกรรม แบ่งย่อยออกมาเป็นวิศวกรระบบดาวเทียม วิศวกรเครื่องกล วิศวกรการบิน วิศวกรสื่อสาร และวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์ เป็นต้น อาชีพด้านสายงานวิทยาศาสตร์ ก็จะประกอบไปด้วย นักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักอุตุนิยมวิทยา นักจักรวาลวิทยา นักชีววิทยา นักเคมี และนักภูมิศาสตร์ เป็นต้น รวมถึงอาชีพด้านนักเทคโนโลยีและช่างเทคนิคอวกาศ  อาทิ นักคอมพิวเตอร์ นักเขียนแบบ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

GISTDA พื้นที่ของคนอยากทำงานวงการอวกาศ
การผลักดันประเทศไทยเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมอวกาศระดับโลก หนึ่งในประตูสำคัญคือโครงการ THEOS-2 ที่ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมด้านอวกาศ แต่หัวใจหลักคือการส่งต่อองค์ความรู้ระดับสากลสู่บุคลากรที่รักและสนใจวงการอวกาศ GISTDA นับเป็นหนึ่งจุดบ่มเพาะและพัฒนาองค์ความรู้ของกลุ่มวิศวกรด้านอวกาศที่มีความถนัดหลากหลาย เชื่อมโยงกับการพัฒนาวิศวกรในหลายมิติ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การออกแบบ การให้บริการทดสอบดาวเทียมตามมาตรฐานต่าง ๆ เรียกได้ว่าถอดรหัสมาตรฐาน Know How จาก NASA มาที่ประเทศไทยได้อย่างสง่างาม นับได้ว่าโครงการ THEOS-2 เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีอวกาศว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และสามารถนำไปสู่การพัฒนาอุตสหกรรมอวกาศไทยได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกรดาวเทียม THEOS-2A

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://mgronline.com/daily/detail/9630000012659
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=2913&lang=TH

Nanfa Sangnakorn 23/4/2023 0
Share :