Head GISDTDA

รู้หรือไม่...!! ดาวเทียมวัดค่าความร้อนได้

      ร้อน..ร้อน..ร้อน... หลายคนบ่นกันว่าร้อน ซึ่งเป็นความร้อนที่เราสัมผัสได้ แต่รู้หรือไม่ว่าดาวเทียมก็สามารถวัดค่าความร้อนได้เช่นกัน วันนี้แอดมินจะพาไปทำความรู้จักเรื่องราวของดาวเทียมที่มีความสามารถในการวัดค่ารังสีความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดครับ
   ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับ “รังสีความร้อน หรือ รังสีอินฟราเรด” กันก่อน...
รังสีความร้อน หรือรังสีอินฟราเรด (Infrared : IR) ที่หลายๆคน รู้จักในวงการสำรวจระยะไกล เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 0.76-1000 um ซึ่งอยู่ในช่วงของแสงที่สายตามองไม่เห็น แต่สามารถรับรู้ถึงความร้อนที่เกิดขึ้นได้ โดยรังสีอินฟราเรดมีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นเดียวกับคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้ทุกประการ เช่น การหักเห การสะท้อน การดูดซับ หรือการส่องผ่านตัวกลาง เป็นต้น ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนในงานสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยดาวเทียม ดังนี้ 
  จุดความร้อน (Hotspot)  คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ ดาวเทียมหลายดวงถูกพัฒนาระบบเซนเซอร์ให้มองเห็นค่าความร้อนบนผิวโลก สามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส บนพื้นผิวโลกได้ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลและแสดงให้เห็นในรูปแบบจุด ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม Terra, Aqua, Suomi NPP, NOAA และดาวเทียม Himawari เป็นต้น
  อุณหภูมิพื้นผิว (Land Surface Temperature: LST)  เป็นการศึกษาความร้อนพื้นผิวโลก รับรู้จากการสัมผัสพื้นผิวโลกจากช่วงคลื่นอินฟราเรดความร้อน (Thermal Infared) ซึ่งอาจเป็นหลังคาบ้าน ยอดตึก น้ำ หรือน้ำแข็ง ดังนั้นอุณหภูมิพื้นผิวจึงไม่เหมือนกับอุณหภูมิภายในอากาศ ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม Landsat-9, Suomi NPP, Terra, Aqua เป็นต้น
   ดัชนีบ่งชี้สภาพอุณหภูมิความส่องสว่างของพื้นผิวปัจจุบัน (Temperature Condition Index : TCI) เป็นการวิเคราะห์ค่า Brightness Temperature (BT) ที่หาได้จากข้อมูลช่วงคลื่น ณ เวลาปัจจุบันที่สนใจว่าอยู่ในตำแหน่งใดของช่วงค่า BT ต่ำสุดกับค่า BT สูงสุด สำหรับพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบรายจุดภาพว่าอยู่ในระดับที่แตกต่างไปจากปกติ มากน้อยเพียงใด โดยอาศัยข้อมูลอดีต ช่วงคลื่นความร้อน (Thermal IR) ของเซนเซอร์ดาวเทียม ตัวอย่างดาวเทียมที่มีช่วงความยาวคลื่นในการวัดค่าความร้อน เช่น ดาวเทียม NOAA, Suomi NPP, Terra, Aqua เป็นต้น
สำหรับดัชนีความร้อน คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนนั้นคำนวณมาจากค่าอุณหภูมิอากาศและค่าความชื้นสัมพัทธ์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิพื้นผิว หรืออุณหภูมิความส่องสว่างที่สูง อาจจะทำให้คน “เป็นลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ( Heatstroke ) ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน โดยเกิดจากที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต เห็นอย่างนี้แล้วประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมีมากมายจริงๆ และดาวเทียม THEOS-2 ที่กำลังจะส่งขึ้นสู่อวกาศปลายปีนี้จำนวน 2 ดวงก็จะมาช่วยเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพให้กับหน่วยงานระดับนโยบายได้นำไปใช้เพื่อการบริหารจัดการประเทศ ทั้งการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง การวางแผน การบรรเทาเพื่อลดผลกระทบ และการแก้ไขปัญหา ต่อไป.
.

Nanfa Sangnakorn 25/4/2023 0
Share :