Head GISDTDA

GISTDA ร่วมงาน Global Space and Technology Convention หรือ GSTC 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยีอวกาศจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ณ SHERATON TOWERS ประเทศสิงคโปร์

15-16 กุมภาพันธ์ 2566

GISTDA ร่วมงาน Global Space and Technology Convention หรือ GSTC 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยีอวกาศจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ณ SHERATON TOWERS ประเทศสิงคโปร์ 

โดยครั้งนี้ GISTDA ได้นำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับดาวเทียมสำรวจโลกของไทยดวงแรกที่กำลังปฏิบัติภารกิจในอวกาศ คือ “ไทยโชต” และอีก 2 ดวงที่อยู่ระหว่างการเตรียมนำส่งขึ้นสู่วงโคจร คือ “THEOS-2” และ “THEOS-2A” พร้อมทั้ง ได้นำเสนอศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) เป็นศูนย์ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการสร้าง ประกอบ และทดสอบระบบดาวเทียม อีกทั้งนำเสนอระบบ AIP (Actionable Intelligence Policy) ซึ่งเป็นระบบสำหรับการใช้งานภูมิสารสนเทศขั้นสูงประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ

ทั้งนี้ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้รับเกียรติให้เป็น Speakers ของงานในครั้งนี้ด้วย โดยร่วมกล่าวในหัวข้อ “การส่งเสริมการยอมรับเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาค” หรือ Regional Space Agencies’ Dialogue – Encouraging the Adoption of Space – Technologies and Applications through Regional Partnerships ซึ่งเอเชียแปซิฟิกถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก มีประชากรในช่วงที่เป็นเยาวชนจำนวนมากที่สุด การนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ประโยชน์ จะช่วยให้ภูมิภาคเกิดการพัฒนาต่อยอดและก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายที่แต่ละประเทศจะต้องพัฒนาและดึงศักยภาพจากเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

นอกจากนี้ ภายในงานฯ ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจหลายฉบับด้วยกัน และหนึ่งในนั้นมีการลงนามระหว่างประเทศไทยโดย GISTDA ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการลงนามระหว่าง GISTDA และ Economic Development Board Office for Space Technology and Industry (OSTIn) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศ เพื่อการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือการดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศ โดยมีขอบเขตความร่วมมือดังนี้
 1. ด้านข้อมูลและแอพพลิเคชั่นจากดาวเทียมสำรวจโลก 
 2. การส่งเสริมการศึกษาด้านอวกาศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์
 3. นโยบายด้านอวกาศ
 4. การจัดการจราจรทางอวกาศ
 5. โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ภาคพื้น
 6. ดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศต่างๆ
 7. การส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศ

จากความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศในครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือกันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ทั้งนี้ ดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่ของไทยอย่าง THEOS-2 และ THEOS-2A กับดาวเทียมของสิงคโปร์อย่าง NeuSAR จะร่วมกันมอบคุณค่าจากอวกาศสู่สังคมและร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศของภูมิภาคให้ก้าวสู่ระดับสากลต่อไป

Nattakarn Sirirat 15/2/2566 0
Share :