Head GISDTDA

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมชมภารกิจ GISTDA ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ และร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย

13 ธันวาคม 2565 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับ GISTDA จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในรูปแบบ Hybrid โดยมี เจนนิเฟอร์ ลิตเติลจอห์น (Jennifer R. Littlejohn) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านมหาสมุทร สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (Principal Deputy Assistant Secretary in the Bureau of Oceans and International Environmental and Scientific Affairs, Department of State) และคณะ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ณ GISTDA ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Krenovation Park: SKP อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยผู้บริหารและนักวิจัยจากองค์การชั้นนำด้านอวกาศจากทั้งสองฝ่าย ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ได้แก่ การทดลองในสถานีอวกาศ โครงการด้านฟิสิกส์อวกาศ การวิจัยทางดาราศาสตร์และกล้องโทรทรรศน์ แผนงานของภารกิจสำรวจอวกาศ รวมถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือผ่านโครงการและความตกลง Artemis ซึ่งผลลัพธ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสำรวจอวกาศ ดวงจันทร์ และดาวอังคาร

ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เสร็จสิ้นลง เจนนิเฟอร์ ลิตเติลจอห์น และคณะได้เข้าเยี่ยมชมภารกิจและศึกษาดูงาน ณ ห้องปฏิบัติการภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หรือ AIT และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ STREC ก่อนเดินทางกลับ

อนึ่ง การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมครั้งที่ 3 ในชุดการประชุมปฏิบัติการด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยจากทั้งหมดจำนวน 9 ครั้ง ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมหารือความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย ครั้งที่ 2 (U.S.-Thailand 2nd Civil Space Dialogue) เมื่อปี 2562 ณ ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความร่วมมือด้านกิจการอวกาศที่มีศักยภาพระหว่างทั้งสองประเทศ เช่น กฎหมายและนโยบายอวกาศ/การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ/การวิจัยและพัฒนาด้านการสำรวจอวกาศ/การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ/การบริหารจัดการการจราจรในอวกาศและการเฝ้าระวังสภาวะอวกาศ เป็นต้นนอกจากนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในแต่ละครั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับจัดการประชุมหารือด้านอวกาศครั้งที่ 3 (U.S.-Thailand 3rd Civil Space Dialogue) ในปี 2566 ต่อไป

phakpoom.lao 15/12/2565 0
Share :