Head GISDTDA

GISTDA แสดงจุดยืนด้านเศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทย ในการประชุม “Korea Space Forum 2022” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

28-29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติประจำปีภายในงาน “Korea Space Forum 2022” จัดขึ้น ณ JW Marriott Hotel Seoul กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งการประชุมฯครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศองค์การด้านอวกาศและหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำจากทั่วโลกได้นำเสนอบทบาทของอุตสาหกรรมอวกาศ รวมไปถึงการแสวงหาความร่วมมือระดับนานาชาติในการการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ New Space Economy โดยมีนายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการภารกิจด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของ GISTDA เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมงานในครั้งนี้

ภายในงาน รองผู้อำนวยการ GISTDA ได้นำเสนอเรื่อง "เศรษฐกิจอวกาศใหม่ของประเทศไทย-Thailand's New Space Economy" ซึ่งนำเสนอสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ (2566-2580) สถานะของกฎหมายอวกาศไทย ,การขับเคลื่อนและผลักดันกิจการด้านอวกาศต่างๆ ของไทย ,โครงการความร่วมมือด้านอวกาศที่สำคัญกับนานาชาติ โดยเฉพาะความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการประชุมฯ มีผู้แทนจากภาคเอกชนด้านอวกาศระดับโลกเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการสร้างความร่วมมือด้านอวกาศที่จะส่งเสริม สนับสนุน การสร้างรายได้และการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของไทยและสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เรื่องเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญร่วมกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งราชรัฐลักเซ็มเบิร์ก ,ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศด้านอวกาศของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (Latin American and Caribbean Space Agency, ALCE) ,ผู้บริหารบริษัท KTsat และ Qnion ซึ่งเป็นภาคเอกชนด้านอวกาศชั้นนำของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น รวมถึงได้หารือเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทย-สาธารณรัฐเกาหลี กับ Mr. Sang-Ryool LEE ประธานองค์การอวกาศแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute, KARI) เรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ณ ประเทศไทย รวมถึงการร่วมพัฒนาดาวเทียมประเภทต่างๆ การสำรวจดวงจันทร์และอวกาศ การร่วมวิจัยและพัฒนาด้านสภาวะและความปลอดภัยทางอวกาศ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีต่างก็เห็นพ้องกันว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นพันธมิตรสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ในการพัฒนากิจการอวกาศของกันและกันต่อไปในอนาคต

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ฯพณฯ ประธานาธิบดี Yoon Suk-Yeol แห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญกับกิจการอวกาศเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีมีการทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของเกาหลีถึงปีละกว่า 432 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และเป็นพันธมิตรที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของไทย ซึ่งในโอกาสนี้ รองผู้อำนวยการฯ GISTDA ได้พบปะและพูดคุยกับ ฯพณฯ ประธานาธิบดี Yoon Suk-Yeol ในระหว่างการประชุมฯ อีกด้วย โดย ฯพณฯ ประธานาธิบดีได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่เข้าร่วมการประชุมฯ และได้อวยพรแสดงความคาดหวังว่าความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างทั้ง 2 ประเทศ จะประสบความสำเร็จมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมต่อไป

amorn.pet 2/12/2565 0
Share :