Head GISDTDA

GISTDA เข้าร่วมประชุม IADC เพื่อหารือกิจกรรมความร่วมมือทางด้านขยะอวกาศ

วันนี้ ผมและทีมนักวิจัยซึ่งเป็นตัวแทนของ GISTDA ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมการประสานงานระหว่างองค์กรเกี่ยวกับขยะอวกาศ หรือจะเรียกให้ดูอินเตอร์หน่อยก็คือ Inter-Agency Space Debris Coordination Committee หรือ IADC ครั้งที่ 40 ที่เกาะเชจู ประเทศเกาหลี เพื่อหารือกิจกรรมความร่วมมือทางด้านขยะอวกาศของประเทศสมาชิกที่กำลังดำเนินการอยู่ และพิจารณาถึงโอกาสความร่วมมือทั้งทางปฏิบัติและวิจัยด้านใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับโลกของเรา รวมถึงร่วมวางแนวทางนโยบายการลดและบรรเทาปัญหาของขยะอวกาศของโลกครับ  

ขอเท้าความสักหน่อยว่า GISTDA มีการวิจัยและพัฒนาด้านขยะอวกาศมาหลายปีแล้ว มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายอย่างเพื่อติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอวกาศหรือขยะอวกาศ ซึ่งปัจจุบันผมและทีมนักวิจัยได้พัฒนาระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ Space traffic management system ที่เรียกว่า ZIRCON (เซอร์คอน) จนแล้วเสร็จและได้ใช้งานจริงแล้ว ล่าสุดก็คือ การติดตามการตกสู่โลกของชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5 บี รวมถึงยังมีการเชื่อมโยงการวิจัยขั้นแนวระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System Frontier Research: ESS ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้องกับทางด้านขยะอวกาศ ซึ่งถือเป็น milestone ที่สำคัญของความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศของประเทศไทย หรือ space safety and security ในแผนที่นำทางของ ESS อีกด้วย

ปัจจุบัน GISTDA ได้วางนโยบายกิจการอวกาศซึ่งมีการนำแนวปฏิบัติในส่วนเรื่องเกี่ยวกับการใช้อวกาศอย่างยั่งยืนของ IADC space debris mitigation guideline มาปรับให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย และได้บรรจุอยู่ใน (ร่าง) นโยบายกิจการอวกาศของประเทศไทย แล้ว

การประชุม IADC ปกติจะเชิญให้สมาชิก IADC เข้าร่วมเท่านั้นครับ แต่ผมเห็นว่าการประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก และประเทศไทยเองก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ผมจึงไม่รีรอที่จะนำส่งจดหมายเพื่อแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมการประชุมพร้อมเสนอข้อมูลที่แสดงถึงขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอวกาศและขยะอวกาศ เพื่อให้คณะกรรมการ IADC พิจารณา จนได้รับการตอบรับให้ GISTDA เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการ IADC จะพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GISTDA ต่อไป ครับ 

การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ IADC ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพื่อให้เราได้โอกาสร่วมมือวิจัยและสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหรือบรรเทาขยะอวกาศ และมีส่วนร่วมในวางแนวนโยบายบรรเทาปัญหาขยะอวกาศให้กับโลกใบนี้ของเราต่อไป ครับ

phasaphong.tha 11/10/2565 0
Share :