Head GISDTDA

ไขปริศนาดาวบีเทลจุส ..จากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา..สู่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ

#ไขปริศนาดาวบีเทลจุส - #จากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา #สู่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ
.
“บีเทลจุส” ดาวยักษ์ใหญ่แดงแห่งกลุ่มดาวนายพราน ที่อยู่ห่างจากโลกเรากว่า 643 ปีแสงนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในปรากฏการณ์ “The Great Dimming” ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้แสงสว่างของมันลดลงไปถึง 25% จากปกติในช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่มันจะกลับมาสว่างอีกครั้งตอนต้นปี 2563
.
เหตุการณ์ The Great Dimming เป็นที่จับตามองของหลายองค์กรทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงที่ค้นพบใหม่นี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการศึกษาการสูญมวลของดาวยักษ์ใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของมนุษย์เราเกี่ยวกับวงจรชีวิตดาวในอวกาศ
.
อย่างไรก็ตาม ที่มาที่ไปของมันยังคงเป็นปริศนาที่ไม่ได้ถูกคลี่คลาย เพราะยังไม่มีใครสามารถยืนยันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ บ้างก็ว่าเกิดจากฝุ่งผงละอองดาวที่บดบังแสง บ้างก็ว่าเป็นปฏิกิริยาภายในตัวดาวที่ปะทุก๊าซบางส่วนออกมาก่อนจะเย็นตัวลงทำให้แสงสว่างลดตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเสียที
.
จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานี้ คณะวิจัยได้เผยแพร่รายงานการค้นพบที่ไม่คาดคิดลงใน Nature Astronomy งานวิจัยสดใหม่ฉบับนี้ ได้ทำการประมวลผลข้อมูลของดาวบีเทลจุส ที่ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา Himawari-8 ของญี่ปุ่นได้บันทึกติดมาขณะทำภารกิจของมันอยู่ด้วยความบังเอิญ
.
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา Himawari-8 ควบคุมโดย Japan Meteorological Agency (JMA) จัดอยู่นกลุ่มดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit) สูงจากพื้นโลกราว 35,768 กิโลเมตร สูงกว่าสถานีอวกาศนานาชาติประมาณ 90 เท่า ด้วยระยะวงโคจรที่สูงพ้นชั้นบรรยากาศโลกนั้น ทำให้มันสามารถเก็บข้อมูลรังสีอินฟาเรดโดยตรงจากอวกาศได้อย่างครอบคลุม
.
โดยภารกิจหลักของดาวเทียม Himawari-8 คือการถ่ายรูปพื้นผิวโลกทุกๆ 10 นาที ผ่านทั้งกล้องในระบบออพติคอลและอินฟาเรด เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศครอบคลุมบริเวณทวีปเอเชียและแปซิฟิกตะวันตก จากนั้นก็ส่งให้ภาคพื้นดินใช้ประกอบการพยากรณ์อากาศบนโลก
.
ทีมนักวิจัยนำโดยคุณ Daisuke Taniguchi นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ศึกษาข้อมูลดาวบีเทลจุสที่ดาวเทียม Himawari-8 เก็บรวบรวมมา ย้อนไปตั้งแต่ปี 2560 จุดเด่นของข้อมูลจากดาวเทียม Himawari-8 ก็คือมีความถี่ของการจับภาพสูง ทำให้มีฐานข้อมูลเก็บรวบรวมไว้อย่างเพียงพอ และที่สำคัญคือมันสามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายในช่วง mid-infared
.
ซึ่งหากใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์อื่นในการเก็บข้อมูลนี้ จะมีขั้นตอนที่ยากและซับซ้อนกว่ามาก จากข้อมูลที่รวบรวมได้เหล่านั้นทำให้พวกเขาสามารถดำเนินการหาปริมาณแสงสว่างจากดาวบีเทลจุส ประกอบการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ The Great Dimming ที่เกิดขึ้นได้ นี่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์แก่ทางภาคพื้นดินแต่ยังช่วยส่งเสริมฐานข้อมูลในการสำรวจภาคอวกาศอีกด้วย
.
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผลการวิจัยนี้สนับสนุนข้อสันนิษฐานชิ้นอื่นๆจากการสำรวจภาคพื้นดิน โดยผลสรุปที่ทีมนักวิจัยได้นำเสนอ ก็คือ สาเหตุของการที่แสงสว่างดาวบีเทลจุสลดลงเป็นผลของทั้งอนุภาคฝุ่นผงของก๊าซอุ่นโดยรอบดาว และการเย็นลงของดาวที่ก่อให้เกิดความแปรปรวนในแสงสว่าง
.
หลังการค้นพบ ผู้คนให้ความสนใจกับเจ้าดาวเทียมอุตุนิยมวิทยานี้เพิ่มยิ่งขึ้น แม้ว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจอวกาศโดยเฉพาะ แต่กลับมีความสามารถในการจับข้อมูลที่มีความละเอียด จนเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยเชิงอวกาศในอีกแขนงหนึ่งได้อย่างไม่คาดคิด ข้อมูลจากดาวเทียมขนาดกลางนี้ ยังเปิดให้เข้าสาธารณชนเข้าถึงได้ฟรีๆและไม่ต้องต่อคิวรอล่วงหน้าอีกด้วย
.
ทีมนักวิจัยเองก็ได้เล็งเห็นว่า การค้นพบครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงช่องทางการศึกษาวิจัยแนวใหม่ เพราะดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาอื่นๆที่โคจรรอบโลกเราอยู่ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ก็สามารถมีประสิทธิภาพเพียงพอ และอาจใช้ทดแทนแหล่งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ หรือกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินอื่นๆ ในการวิจัยเชิงดาราศาสตร์ได้ เป็นอีกตัวช่วย ในการขยายความเข้าถึงข้อมูลให้แก่หน่วยงานวิจัยต่างๆมากขึ้น
.
ไม่เพียงเท่านี้ ภารกิจหลักของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา Himawari-8 เองก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับการศึกษาสภาพอากาศที่ครอบคลุมมาถึงประเทศไทยเราไม่ใช่น้อย อย่างในสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดยอุปกรณ์ Advanced Himawari Imager (AHI) ที่ติดตั้งในดาวเทียม Himawari-8 จะทำการเก็บข้อมูลค่า Aerosol Optical Depth (AOD) ทุกๆชั่วโมง ซึ่งค่า AOD นี้จะแปรผกผันกับความสามารถของแสงในการส่องผ่านชั้นบรรยากาศ
.
ค่า AOD สูงจะบ่งบอกถึงความหนาแน่นของฝุ่นละอองที่สูง เพราะแสงผ่านพ้นไปได้ต่ำนั่นเอง ท้ายที่สุด ค่าที่บันทึกได้สามารถนำมาใช้คำนวณหาปริมาณฝุ่นละออง ซึ่งทาง GISTDA ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในการสร้างเป็นแผนที่รายงานปริมาณฝุ่นละอองเพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในทุกๆภูมิภาคประเทศไทยอย่างทั่วถึง ผ่านแอพลิเคชั่น เช็คฝุ่น
.
นอกจากนี้ GISTDA ยังมีแผนที่จะส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นโคจรในอีกไม่นาน แน่นอนว่าในอนาคต ดาวเทียมของไทยเราอาจค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ๆที่ช่วยไขข้อข้องใจทั้งในด้านอวกาศ แต่ที่แน่นอนคือการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้มีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นกว่าเดิม
.
อ้างอิง
- Daisuke Taniguchi, Kazuya Yamazaki, and Shinsuke Uno. The Great Dimming of Betelgeuse seen by the Himawari-8 meteorological satellite. Published on 30 May 2022 via nature.com
- Jonathan O’Callaghan. Betelgeuse star dimming puzzle solved by chance with weather satellite. Published on 30 May 2022 via newscientist.com
- Jackson Ryan. Astronomers Unexpectedly Capture 'Great Dimming' of Supergiant Star Betelgeuse. Published on 30 May 2022 via cnet.com
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ดาวบีเทลจุส #ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา #กล้องโทรทรรศน์อวกาศ #Himawari 

 

phakpoom.lao 13/6/2022 1639 0
Share :

Related news