Head GISDTDA

ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม ส่วนเติมเต็มระบบนิเวศอวกาศในประเทศไทย

 

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเรื่องไกลตัว คนธรรมดาทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง แต่เมื่อเปลี่ยนคำถามเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ทุกคนอาจจะคุ้นเคยดีกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ทำให้เรามีโอกาสได้ชมและเชียร์ทีมโปรดผ่านหน้าจอโทรศัพท์ที่บ้านตั้งแต่สมัยยังเด็ก นี่แหละคือสิ่งบ่งชี้ว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมอวกาศมาเป็นเวลานานแล้ว

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเปรียบเสมือนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีของประเทศ ดังนั้นในอดีตที่ผ่านมาเราจึงเห็นภาครัฐของแต่ละประเทศเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมอวกาศมาโดยตลอด เช่น NASA ESA JAXA ISRO เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นองค์กรอวกาศของแต่ละประเทศที่ก่อตั้งโดยภาครัฐของประเทศนั้นๆ

.

ปัจจุบันบทบาทการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศได้เปลี่ยนโดยเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังเช่นที่หลายคนคุ้นเคยกับบริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์ ให้บริการขนส่งทางอวกาศที่มีจุดเด่นคือการออกแบบจรวดนำส่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก รวมไปถึงให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม

.

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มี GISTDA เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐมีบทบาทประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศมานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ปัจจุบัน GISTDA ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็น Facilitator ให้กับบรรดาบริษัทเอกชนด้านอวกาศในประเทศไทยที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ให้เติบโตและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอวกาศให้กับประเทศไทยในอนาคต

.

ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม (Assembly integration and testing (AIT) เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตราฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมขนาดเล็ก (น้ำหนัก 10-500 กิโลกรัม) ภายใต้โครงการ THEOS-2 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

.

อีกทั้งยังเปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคการศึกษาในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนได้ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ทดสอบต่างๆภายในศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมในการต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมอวกาศในอนาคต ซึ่งภายในศูนย์ฯจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพื่อการทดสอบต่างๆ อาทิ Clean room (storage room, loading room and integration area), Thermal Cycling, Mass Property Measurement, Vibration Test และ Thermal Vacuum Chamber เป็นต้น

.

ปัจจุบันอุปกรณ์บางส่วนได้ทำการติดตั้ง ณ ศูนย์ AIT เป็นที่เรียบร้อย อาทิ Vibration Test หรือ เครื่องทดสอบการสั่นสะเทือนของส่วนประกอบดาวเทียม และเมื่อไม่นานมานี้ได้ให้บริการทดสอบการสั่นสะเทือนของระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม (Attitude Determination and Control System หรือ ADCS) ให้กับบริษัท mu Space Corp บริษัทสัญชาติไทยที่เชี่ยวชาญในด้านการสร้างชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม นี่แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศไทย

.

ด้วยประสบการณ์ของทีมวิศวกร GISTDA ประจำศูนย์ฯ ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสร้างและทดสอบดาวเทียมโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ สร้างความน่าเชื่อถือจากหน่วยงานที่เข้ามาใช้บริการทดสอบด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านเทคนิคตั้งแต่การเตรียมตัวทดสอบ การให้รายละเอียดผลการทดสอบ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ระหว่างวิศวกร ทำให้ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่มากกว่าศูนย์ทดสอบ แต่เป็นศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยอย่างแท้จริง 

 .

เมื่อคนพร้อม อุปกรณ์พร้อม กระบวนการทดสอบก็ต้องพร้อมเช่นกัน โดยทางศูนย์ฯได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในทุกระดับ เพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินการทดสอบที่เป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติที่สำคัญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวดาวเทียมจากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามาใช้บริการ 

.

แน่นอนว่าโอกาสเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทยเพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมต่อไปในอนาคต 

.

นอกจากนี้ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งนี้ยังช่วยส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นชาติที่อยู่ในแนวหน้าด้านกิจการอวกาศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยจำนวนอุปกรณ์ทดสอบต่างๆที่มีให้บริการครบทุกมิติที่จำเป็นของการทดสอบดาวเทียมก่อนการส่งขึ้นสู่วงโคจร ประกอบกับการที่ศูนย์ฯตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นเขตที่มีสิทธิพิเศษด้านภาษีแก่นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือส่งออก นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างแรงดึงดูดให้หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต 

.

สำหรับคนไทยแล้วศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมจะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศอวกาศ หรือ space ecosystem ในประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตั้งแต่การสร้างและพัฒนาดาวเทียมไปจนถึงการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นสะพานเชื่อมโยงพลังการสร้างสรรค์ของเยาวชนรุ่นใหม่และพลังแห่งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีจากภาคเอกชนสู่การพัฒนานวัตกรรมอวกาศและผลักดันเศรษฐกิจไทย ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ GISTDA ในการนำคุณค่าจากอวกาศเพื่อพัฒนาสังคมไทย

.

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม #อวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #เทคโนโลยี #ขับเคลื่อนการพัฒนา #มูลค่าทางเศรษฐกิจ #โครงสร้างพื้นฐาน #อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

phakpoom.lao 19/5/2565 3209 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง