Head GISDTDA

การสำรวจคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Survey)

ช่วงนี้ทีมวิศวกร GISTDA ได้ออกสำรวจคลื่นความถี่วิทยุและสิ่งกีดขวางบดบังในการติดตั้งจานสายอากาศเพื่อรับสัญญาณข้อมูลดาวเทียมภายใต้ภารกิจความร่วมมือระหว่าง Swedish Space Corporation (SSC) กับ GISTDA ในการให้บริการสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน ในส่วนของโครงการ S3EE ซึ่งได้ดำเนินการขยายและติดตั้งจานสายอากาศที่สถานีดาวเทียมเพิ่มเติม ตามพื้นต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งมี 4 แห่งได้แก่ 
1. อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ จ.ชลบุรี 
2. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศูนย์สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

การตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินนั้น สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงคือการเลือกอุปกรณ์ ข้อกำหนดทางด้านเทคนิค การก่อสร้างรวมถึงการติดตั้งจานสายอากาศ การใช้งานและการบำรุงรักษา สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ ปัญหาสัญญาณรบกวนทางคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Interference) และแนวทางในการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวน ครับ

เนื่องจากระบบจานสายอากาศดังกล่าว ใช้เพื่อรับสัญญาณข้อมูลดาวเทียมในย่านความถี่ S-Band ( 2200 – 2650 MHz) และ X-Band (7250 – 7750 MHz) ซึ่งย่านความถี่นี้จะมีการใช้งานในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้น การที่จะติดตั้งจานสายอากาศดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบสัญญาณรบกวนคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Interference) เพื่อให้รู้ว่าบริเวณนั้นๆ มีสัญญาณรบกวนคลื่นวิทยุอื่นใดหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน  ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการรับสัญญาณข้อมูลดาวเทียมได้นะครับ ดังนั้น หากเราพบสัญญาณรบกวนในระดับที่สูงมาก แน่นอนว่าถ้าเราติดตั้งจานสายอากาศก็จะเป็นปัญหา ทำให้คุณภาพของสัญญาณดาวเทียมที่รับมาจะลดลงหรืออาจจะรับไม่ได้เลย จำเป็นที่จะต้องหาสถานที่ติดตั้งแห่งใหม่ 

อีกปัจจัยหนึ่งของจัดตั้งสถานีดาวเทียมก็คือ การสำรวจสิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการรับสัญญาณดาวเทียม หรือที่เรียกว่า Line of Sight ซึ่งก็คือเส้นทางระหว่างจานสายอากาศกับดาวเทียมจะต้องปราศจากสิ่งกีดขวางที่จะบดบังสัญญาณดาวเทียม การตรวจสอบว่าสถานที่นั้นมีสิ่งกีดขวางบดบังหรือไม่ ทำได้โดยใช้กล้องส่องที่มีอัตราขยายสูง ทำการส่องดูว่าปลายทางมีสิ่งกีดขวางใดๆ เข้ามาบดบังสัญญาณดาวเทียมบ้าง โดยการสำรวจจะทำรอบสถานที่ในมุมกวาดแนวนอน 0-360 องศา (Azimuth) และแนวก้มเงย 0-10 องศา (Elevation) เพื่อให้แน่ใจว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีสิ่งกีดขวางรอบทิศทาง และหากมีสิ่งกีดขวางบดบังในมุมใดมุมหนึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่า จะส่งผลกระทบต่อการรับสัญญาณดาวเทียมหรือไม่ สิ่งกีดขวางที่มักพบในเส้นทางการสื่อสารดาวเทียม เช่น สิ่งกีดขวางทางกายภาพ เนินเขา หรือ ภูเขา หรือสิ่งปลูกสร้างจำพวก อาคารสูง หรือตึกสูง และต้นไม้ เป็นต้น 

นอกจากการสำรวจสิ่งกีดขวาง (Line of sight) แล้ว ยังมีสิ่งที่อาจจะเข้ามามีผลกระทบต่อสัญญาณดาวเทียม นั่นคือ พื้นที่ของการกระจายสัญญาณ หรือที่เรียกว่า Fresnel Zone ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อสิ่งกีดขวางบดบัง เช่น ยอดเขา ยอดต้นไม้หรือยอดอาคารที่อยู่ใกล้กับเส้นทางของสัญญาณดาวเทียมมากเกินไป จนก่อให้เกิดปัญหาในการรับสัญญาณดาวเทียมได้ ถึงแม้สิ่งกีดขวางนั้นจะไม่ได้บดบังเส้นทางของการรับสัญญาณดาวเทียมก็ตาม เราจำเป็นต้องนำพิจารณาประกอบสำหรับการจัดตั้งสถานีดาวเทียมด้วยครับ

แนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางหรือสิ่งบดบัง เราสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพิ่มความสูงของจานสายอากาศให้มากขึ้น, หาสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ติดตั้งเสาอากาศใหม่ให้มีความสูงมากขึ้นกว่าเดิม, การเปลี่ยนตำแหน่งที่ใช้ติดตั้งสายอากาศให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกสิ่งกีดขวางบดบังน้อยที่สุด เป็นต้น 

ดังนั้น การสำรวจและตรวจวัดสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Survey)  และการสำรวจสิ่งกีดขวางบดบัง (Line of sight survey) จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่มีความสำคัญต่อการจัดตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินเป็นอย่างมาก

phasaphong.tha 12/5/2022 1236 0
Share :

Related news