Head GISDTDA

อากาศยานไร้คนขับ (UAVs)

อากาศยานไร้คนขับ (UAVs)

   สวัสดีครับแฟนเพจทุกท่าน ยังคงต่อเนื่องไปกับเรื่องของเทคโนโลยีกันเหมือนเช่นเคย ถึงแม้ว่าโดรน หรือ UAVs จะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ปัจจุบันยังคงปรากฏเป็นกระแสให้เห็นอย่างสม่ำเสมอและไม่มีทีท่าว่าจะตกเทรนด์ไปง่ายๆ เพราะอะไรถึงทำให้เทคโนโลยีตัวนี้อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน แล้ว GISTDA มีความเกี่ยวข้อง หรือนำเทคโนโลยีตัวนี้มาใช้ประโยชน์ในภารกิจใดบ้าง แอดมินจะเล่าให้ฟังครับ

   อากาศยานไร้คนขับ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Unmanned Aerial Vehicles (UAVs) หมายถึง อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่เป็นมนุษย์อยู่บนเครื่อง แต่ใช้การบังคับหรือควบคุมจากระยะไกลแทน โดยปกติทั่วไปเรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “โดรน” แต่จริงๆ แล้วโดรนนั้นรวมไปถึงยานพาหนะหรือหุ่นยนต์อื่นๆ ที่มีการบังคับจากระยะไกลด้วย ส่วนคำว่า UAVs จะใช้เรียกสำหรับอากาศยาน (บินได้) เท่านั้น ยังไงก็แล้วแต่ทั้ง 2 คำสามารถที่จะใช้แทนกันได้ แต่สำหรับบทความนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ผมจะขอใช้คำว่า “โดรน” เป็นหลัก

   โดรนนั้นมีการใช้งานที่หลากหลาย การแบ่งประเภทของโดรนก็จะแตกต่างกันออกไป โดยหากจะอ้างอิงจากกระทรวงคมนาคม ก็จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1) โดรนที่ใช้เพื่องานอดิเรก ความบันเทิง และการกีฬา 2) โดรนที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (นอกเหนือจากข้อที่หนึ่ง) แต่โดยสากลทั่วไปแล้วมักนิยมจำแนกจากจำนวนใบพัดและมอเตอร์ ซึ่งจะสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้ดังนี้ 1) UAVs ชนิดปีกตรึง (Fixed Wing) 2) UAVs ชนิดปีกหมุน (Multirotor) และ 3) UAVs ชนิดปีกตรึงขึ้นลงแนวดิ่ง (Vertical Take-off and Landing) หรือ (Fixed Wing Hybrid)

   เรื่องของการใช้งาน ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถบินบังคับได้อย่างอิสระเสรีนะครับ (ในทางทฤษฎี) เพราะมีกฎเกณฑ์ควบคุมอยู่พอสมควร กล่าวคือ ผู้บังคับโดรนต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นจำเป็นต้องอยู่ในกำกับดูแลของผู้ปกครอง และต้องมีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอากาศยานติดตัวอยู่เสมอตลอดระยะเวลาขึ้นบิน รวมไปถึงคุณสมบัติส่วนตัวของผู้บินบังคับที่ต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมายอยู่บ้าง เช่น เรื่องห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบิน , ห้ามบินสูงเกินกว่า 90 เมตรเหนือพื้น และที่สำคัญห้าม ! บินในเวลากลางคืน

   ในงานสำรวจและทำแผนที่ เราทราบกันดีครับว่าภาพที่ถ่ายจากโดรนมีความละเอียดสูงกว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมมาก รวมถึงยังสามารถถ่ายได้เกือบทุกเวลาที่เราต้องการ แถมไม่ต้องกังวลเรื่องเมฆบดบัง อีกทั้งสมัยนี้ยังถ่ายด้วยกล้องหลายช่วงคลื่น (Multispectral Camera) เพื่อติดตามผลผลิตของพืชได้อีกด้วย แต่ถึงอย่างไรโดรนก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่อาจไม่สามารถเข้ามาแทนที่ดาวเทียมได้ทั้งหมด เช่นในเรื่องของขนาดพื้นที่ที่ดาวเทียมสามารถถ่ายได้ครอบคลุมมากกว่า หรือหากพื้นที่นั้นๆ ปรากฏอยู่ในเขตห้ามบิน (No Fly Zone) โดรนก็ไม่สามารถขึ้นบินได้ เป็นต้น

   นอกจากงานด้านสำรวจและการทำแผนที่ โดรนถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับงานต่างๆ และสามารถทำงานแทนที่มนุษย์ได้อย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภัยธรรมชาติ ความมั่นคงทางทหาร การตรวจสอบจุดรั่วไหลของท่อส่งก๊าช/น้ำมัน การตรวจสอบอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายในเสาไฟฟ้าแรงสูง และด้านการขนส่งสินค้าของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษใหญ่อันเป็นที่น่าจับตามองในปัจจุบัน

   ส่วนทาง GISTDA เองก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดังกล่าวมากพอสมควร จากความเชี่ยวชาญในด้านการสำรวจและการทำข้อมูลภูมิสารสนเทศ ก็ได้นำอากาศยานไร้คนขับ (UAVs) มาเป็นตัวช่วยสำคัญในการปฏิบัติภารกิจด้านการสำรวจรังวัดด้วยระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) และการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศรายละเอียดสูง โดยได้ริเริ่มดำเนินการต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี และยังคงมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง

   มาถึงตรงนี้เพื่อนๆ จะเห็นได้ว่าโดรนเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ชัดเจนที่สุดในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ เพราะงานบางอย่างแอดมินเองก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าโดรนก็ทำได้ จุดนี้เองคงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโดรนถึงได้อยู่รอดมาไกลกว่าหนึ่งร้อยปี และหากพูดแนวโน้มทิศทางในอนาคตดูเหมือนว่าโดรนจะยังคงพัฒนาไปต่อได้อีก โดยในระยะเวลา 5 ปีหลังจากนี้ (ปี 2565 ถึง 2570) ตลาดโดรนทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึง 12.27 % (อ้างอิง : https://bit.ly/3xWRauK)

ภาพ : https://bit.ly/3xWRauK

   สุดท้ายเราต้องมาคอยดูกันครับว่า อากาศยานไร้คนขับ (UAVs) หรือ “โดรน” อนาคตจะมีบทบาทกับโลกและประเทศไทยอย่างไร มนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยโดรนหรือโดรนจะเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้มนุษย์เพิ่มขึ้น กฎหมายข้อบังคับต่างๆ จะมีการปรับให้ทันยุคทันเทคโนโลยีและสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด ถือเป็นความท้าทายที่ต้องจับตามอง เพราะหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่โดรนจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รุดหน้าไปไกลกว่าที่เคยเป็น

ขอบคุณข้อมูลจาก

- นายสุรมงคล ศิริพล (นักภูมิสารสนเทศ)

- นายเอกสุระ นันท์ธนาวรกุล (นักภูมิสารสนเทศ)

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #การรับรู้ระยะไกล #โดรน #UAVs #อากาศยานไร้คนขับ #กฎหมาย #เขตห้ามบิน #NoFlyZone #เกษตรอัจฉริยะ #มองโลกมองเรา #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 30/4/2565 13512 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง