Head GISDTDA

พื้นที่ไหน? ค่าฝุ่นเป็นอย่างไร? บอกกันหน่อยครับ

“เช็คฝุ่น” นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมภูมิสารสนเทศที่จะทำให้ชีวิตคนไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างข้อมูลจากดาวเทียมรายชั่วโมง ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบนภาคพื้นดิน และข้อมูลภูมิสารสนเทศหรือตำแหน่งของผู้ตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่บนเปื้อนในอากาศใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดและอัพเดททุกๆชั่วโมง

.

“เช็คฝุ่น” เกิดจากความร่วมมือกันพัฒนาระหว่างสามหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ #สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) #มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ #GISTDA มีการออกแบบให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างง่ายดายด้วยตัวเอง เพียงแค่กดปุ่มเดียว จากนั้นระบบก็จะทำการประมวลผลข้อมูลและแสดงค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณตำแหน่งของผู้ตรวจสอบให้ทันที พร้อมบอกถึงระดับความอันตรายด้วยภาษาและเฉดสีที่เข้าใจง่าย อีกทั้งแสดงข้อมูลวัน เวลาและตำแหน่งของผู้ตรวจสอบทั้งในระดับตำบลและค่าพิกัดอีกด้วย เรียกได้ว่าเช็คแล้วแชร์ได้ทันที

.

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในหน้าเดียวกันเมื่อเลื่อนลงมาอีกนิด ก็จะปรากฏข้อมูล “ปริมาณฝุ่นย้อนหลัง 24 ชั่วโมง” “แผนที่ฝุ่นละอองระดับจังหวัด”และ “ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองภายในจังหวัด” ณ ตำแหน่งของผู้ตรวจสอบในเวลานั้น โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กย้อนหลัง 24 ชั่วโมงที่ให้รายละเอียดค่าฝุ่นทุก 1 ชั่วโมง นำเสนอในรูปแบบกราฟทำให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีฝุ่นละอองกระจายในอากาศสูงของช่วงเวลาหนึ่งวันที่ผ่านมา นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการป้องกันเป็นพิเศษในช่วงเวลานั้นของวันต่อไป

.

สำหรับ “แผนที่ฝุ่นละออง” แสดงถึงการกระจายตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศในพื้นที่ระดับจังหวัดของผู้ที่ตรวจสอบในขณะนั้น ทำให้เห็นภาพรวมของความหนาแน่นของปริมาณฝุ่นซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนที่เดินทางได้รู้ล่วงหน้าถึงปริมาณฝุ่นในพื้นที่ที่กำลังเดินทางไป ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีปริมาณฝุ่นปนเปื้อนสูงก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือเตรียมตัวรับมือได้ทันการณ์

.

“ตารางค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองภายในจังหวัด” แสดงค่าความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับอำเภอของจังหวัดที่ผู้ตรวจสอบในขณะนั้น โดยเรียงลำดับอำเภอด้วยค่าความหนาแน่นฝุ่นจากมากไปหาน้อยภายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ และเพื่อความเข้าใจในภาพรวมสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดเกี่ยวกับการใช้งานแผนที่

.

นอกจากนั้น หากเราต้องการตรวจสอบในพื้นอื่นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนที่เรารู้จักหรือคนที่เรารักและเคารพอาศัยอยู่ แอพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยตรวจสอบผ่านเมนู “เช็คฝุ่นจากดาวเทียม” เป็นการแสดงข้อมูลความหนาแน่นฝุ่นละอองขนาดเล็กในรูปแบบแผนที่ หรือเมนู “เช็คฝุ่นรายจังหวัด” ก็จะแสดงตารางลำดับความหนาแน่นของฝุ่นละอองรายจังหวัดที่มีการจัดเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยให้เรียบร้อย เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ณ เวลาที่ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว

.

ทั้งนี้ หากต้องการทราบข้อมูลฝุ่นในระดับตำบลก็สามารถกดที่ชื่อจังหวัด ตามด้วยกดที่ชื่ออำเภออีกครั้ง ก็จะปรากฏลำดับความหนาแน่นฝุ่นในระดับตำบล เท่านี้ยังไม่พอ! หากกดไปที่ชื่อตำบลก็จะปรากฏกราฟความหนาแน่นฝุ่นรายชั่วโมงเช่นกัน นับได้ว่าเป็นการออกแบบการแสดงข้อมูลเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย

.

เบื้องหน้าดูทุกอย่างง่ายไปหมดแค่เพียงปลายนิ้วคลิกก็ทราบผล แต่ทว่าเบื้องหลังของ “เช็คฝุ่น” คือหนังคนละม้วน ด้วยการพัฒนา วิจัย ตรวจสอบเทียบค่าระหว่างข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภาคพื้นดินมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับการประมวลผลข้อมูลที่หลากหลายและแบบจำลองมากมายที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังในทุกๆชั่วโมง ตลอดจนการออกแบบและพัฒนาแอพลิเคชั่นเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทยและเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศโดยตรง

.

ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” สามารถดาวน์โหลดฟรี!!! ได้แล้ว ทั้งไอโอเอส และแอนดรอยด์ โดยพิมพ์คำว่า “เช็คฝุ่น” แล้วกดค้นหาและติดตั้งได้เลย การใช้งานไม่มีการลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้นเพียงแค่เปิดการเข้าถึงตำแหน่งของเราเท่านั้นเอง สามารถตรวจสอบได้ทันทีหลังจากติดตั้งโดยข้อมูลความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่วิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียมจะมีการอัพเดทอัตโนมัติทุกชั่วโมง

.

สงกรานต์ปีนี้แม้เราจะยังคงต้องระมัดระวังเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด แต่อย่างน้อยเราก็มีของขวัญที่จะเป็นตัวช่วยยืนยันคุณภาพอากาศที่เราใช้หายใจอยู่ทุกวัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศทั้งตัวเราเองและคนที่เรารัก ต่อจากนี้ไปก่อน “สูด” ก็อย่าลืม “เช็ค” ด้วยแอพ “เช็คฝุ่น” นวัตกรรมอวกาศเพื่อสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกๆคน

.

#ก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #เช็คฝุ่น #PM2point5 #ฝุ่นละออง #ฝุ่นpm #แผนที่ฝุ่นละออง #เช็คฝุ่นจากดาวเทียม

phakpoom.lao 12/4/2565 809 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง