Head GISDTDA

จุดเริ่มต้นของการรับรู้ระยะไกล

   นับตั้งแต่การขึ้นบอลลูนครั้งแรก นั่นคงเป็นการจุดประกายไอเดียในการสำรวจพื้นผิวโลกจากบนท้องฟ้าให้กับมนุษย์ การที่ได้เห็นโลกในมุมมองที่คนปกติไม่เคยเห็นคงเป็นอะไรที่มีความพิเศษและสร้างแรงบันดาลใจให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจนถึงปัจจุบัน แต่ทว่า...กว่าเครื่องมือและความทันสมัยจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้นั้นมันเกิดเรื่องราวอะไรบ้างในอดีต บทความนี้แอดมินจะพาแฟนเพจทุกท่านไปย้อนดูเรื่องราวบางส่วนและทำความรู้จักในเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกลกันครับ
.
   เริ่มต้นกันที่คำว่า “การรับรู้ระยะไกล” หรือภาษาอังกฤษ Remote Sensing เป็นคำที่เกิดจากการประกอบกันระหว่างคำว่า Remote (ระยะไกล) และ Sensing (การรับรู้) เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันจะสามารถนิยามได้ว่า “เป็นการสำรวจตรวจสอบ บันทึกข้อมูลสิ่งใดๆ ก็ตาม โดยที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นเลย”
.
   เดิมทีคำว่า Remote Sensing นั้นยังไม่ถูกใช้แพร่หลายมากนัก ในช่วงแรกการถ่ายภาพทางอากาศนั้นใช้เพียงกล้องถ่ายรูปธรรมดาที่นำไปผูกติดกับบอลลูน ในปี ค.ศ. 1850 โดย Gaspard-Félix Tournachon ช่างภาพชาวฝรั่งเศส แต่กว่าจะได้ภาพที่สมบูรณ์ก็กินเวลาไปพอสมควร หลังจากนั้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำกล้องไปติดตั้งกับอุปกรณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปผูกติดกับว่าวเพื่อถ่ายภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหวของเมืองซาน ฟราน ซิสโก หรือแม้กระทั่งการนำไปผูกติดกับตัวนกพิราบเพื่อถ่ายภาพทางอากาศในประเทศเยอรมนี

เมือง San Francisco ที่ถูกถ่ายด้วยกล้องขณะติดอยู่กับว่าว (ภาพจาก : Humboldt State Geospatial Online)

   

นกพิราบกับกล้องถ่ายรูปของ Julius Neubronner (ภาพจาก : Humboldt State Geospatial Online)

.
   การพัฒนาของการสำรวจระยะไกลค่อยๆ ที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงสงครามที่เทคโนโลยีด้านนี้มีการเติบโตมากขึ้นเป็นพิเศษจากการนำกล้องติดตั้งบนเครื่องบิน เพื่อใช้ในการสอดแนมฐานทัพหรือกองกำลังของศัตรู จนในที่สุดเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นจนสามารถที่จะนำมาใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่หลากหลายกลายเป็นภาพถ่ายต่างๆ บนพื้นโลกให้ผู้คนได้เห็นในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะข้อมูลภาพทางอากาศนั้นสามารถที่จะสังเกตหรือรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
.
   ต่อมา Remote Sensing ก็เริ่มเข้าใกล้กับเทคโนโลยีดาวเทียมมากขึ้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 – 1960 มีการแข่งขันทางด้านอวกาศ หรือ “Space Race” ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตหลังจากที่สหภาพโซเวียตได้เปิดตัวดาวเทียมชื่อว่า Sputnik-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ในปี ค.ศ. 1957 ตามด้วยสหรัฐอเมริกาที่ส่งดาวเทียม Explorer 1 สู่ห้วงอวกาศเช่นกันในปี ค.ศ. 1960 ทั้ง 2 เหตุการณ์ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วในเรื่องดาวเทียม เทคโนโลยีถ่ายภาพและการสำรวจ เริ่มมีการใช้เซนเซอร์เพื่อบันทึกสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนผิวโลกนอกเหนือจากที่ตามนุษย์จะสามารถมองเห็นได้
.
   โดยคำว่า ”ดาวเทียม” นั้นเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นปล่อยสู่ห้วงอวกาศเพื่อให้เคลื่อนที่โคจรรอบโลกหรือวัตถุอื่นๆ ในอวกาศ สามารถแบ่งได้หลายประเภทตามประโยชน์ของการใช้งาน หลักๆ ได้แก่ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก ดาวเทียมดาราศาสตร์ ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมนำร่อง และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากการเปิดตัวเจ้า Sputnik-1 ก็มีการเปิดตัวดาวเทียมตามมาอีกหลายดวง เช่น Tiros-1 , Telstar-1 และ Dongfanghong 1 ผสมกับความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก จุดนี้ทำให้มีการพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกดวงแรกขึ้นมา
.
#ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก
   Landsat-1 หรือชื่อเดิม Earth Resources Technology Satellite 1 (ERTS 1) แลนด์แซท-1 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร ในปี ค.ศ. 1972 โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือที่รู้จักทั่วไปคือ องค์การนาซ่า (NASA) ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและตรวจสอบสภาพแวดล้อมต่างๆ บนผิวโลก การปรากฎตัวของดาวเทียมดวงนี้ทำให้มีการพัฒนาดาวเทียมสำรวจดวงอื่นๆ เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ดาวเทียม SPOT ,ERS ,ENVISAT และ NOAA สำหรับประเทศไทยก็มีเช่นกัน นั่นก็คือ ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS)
.
#ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย
   ไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2551 ด้วยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" (Dnepr) จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย ปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลายาวนาน ร่วม 14 ปี ข้อมูลภาพจากดาวเทียมธีออสถูกนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำแผนที่ ด้านการจำแนกและวางแผนการใช้ที่ดิน ด้านการเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้านความมั่นคง และการเฝ้าระวัง/ติดตามภัยพิบัติทางธรรมชาติ
.
   และเมื่อพูดถึงดาวเทียมไทยโชตแล้ว จะไม่เอ่ยถึงระบบ THEOS-2 คงเป็นไปไม่ได้ โดยระบบ THEOS-2 เป็นการสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชตที่ใกล้หมดอายุ และต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้กับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับการพัฒนาประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับหน่วยงานทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติเพื่อการปฏิรูประบบวางแผน การตัดสินใจ การบริหารงาน และติดตามผล ทั้งนี้ การนำส่งดาวเทียมภายใต้ระบบ THEOS-2 ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก (Main Satellite) 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก (Small Satellite) 1 ดวง จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2566 ซึ่งก็จะทำให้ประเทศไทยได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบทันที
.
   เห็นไหมครับว่า เทคโนโลยีด้าน Remote Sensing นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการรับส่งข้อมูลด้วยดาวเทียมเพียงอย่างเดียว แต่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราแล้วเช่นกัน นับตั้งแต่การถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟน หรือติดตามการพยากรณ์อากาศผ่านแผนที่บนแอปพลิเคชัน และยังมีหน้าที่สำคัญในด้านของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การออกแบบผังเมือง การเฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถขยายขีดความสามารถของมนุษย์ เพื่อดูว่าโลกของเรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

อ้างอิง

History of satellites

History of Remote Sensing
#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #การรับรู้ระยะไกล #RS #Remote #Sensing #ประวัติศาสตร์ #ดาวเทียม #Landsat #ธีออส #THEOS #ไทยโชต # THEOS2 #มองโลกมองเรา #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 11/4/2565 2627 0
Share :