การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact Assessment: SIA เป็นการศึกษาถึงคุณค่าทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการดำเนินโครงการและเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ระหว่างผู้ดำเนินโครงการและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยการติดตามตรวจสอบร่วมกันเกี่ยวกับผลการดำเนินการที่เกิดขึ้นแก่สังคมหลังจากการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผลด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลลัพธ์ทางสังคมนอกจากจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ทราบถึงผลการดำเนินโครงการแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการที่ดำเนินการ
.
ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือที่เรียกว่า Social Return on Investment: SROI เป็นการวัดผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact ในด้านต่างๆ ที่ประเมินได้มาคำนวณหามูลค่าทางการเงิน หรือ Monetized Value แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนหรืองบประมาณที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆได้สร้างประโยชน์ในอัตราส่วนของผลกำไรต่อต้นทุนอย่างไร เช่น อัตราส่วน 1:2 แสดงว่าการลงทุน 1 บาท สามารถสร้างมูลค่าทางสังคมได้ 2 บาท โดยหลักของการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนจะต้องคำนึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการแสดงความคิดเห็นร่วมกันและการกำหนดขอบเขตและผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดย GISTDA ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทยได้ทำการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆรวม 41 โครงการ/แผนงานในช่วงปีงบประมาณ 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการกำหนดแผนงานหรือโครงการในปีงบประมาณในอนาคต อีกทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสนองตอบประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่องค์กรแห่งคุณค่า
.
การประเมินผลลัพธ์และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน มีขั้นตอนการดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการเลือกแบบเจาะจง เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการของ GISTDA ในปีงบประมาณ 2563 โดยดำเนินการศึกษาจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น
.
การวิเคราะห์แผนที่ผลลัพธ์ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า กิจกรรม ผลผลิต และหาข้อสรุปเป็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า Outcome หรือ Impact การวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ส่วนเกินโดยให้ค่าน้ำหนักการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่เกิดขึ้น ปัจจัยสนับสนุนอื่นที่มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ และอัตราการลงหรือคงที่ของผลสัมฤทธิ์ แล้วหามูลค่าตัวแทนทางการเงินของผลลัพธ์ที่แท้จริงเพื่อคำนวณอัตราส่วนผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI
.
เกณฑ์ที่นำมาใช้ในการประเมินมูลค่ารายโครงการ อาทิ การนำข้อมูล/เทคโนโลยี/วิธีการใหม่จาก GISTDA มาสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดความเสียหาย เพิ่มมูลค่าทางเศษฐกิจ การนำข้อมูลหรือเทคโนโลยีของ GISTDA มาใช้กับงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ GISTDA
.
ผลการศึกษาพบว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 32 โครงการและแผนงานสนับสนุน 9 แผนงาน มีมูลค่ารวมที่เกิดขึ้นเท่ากับ 3,086.50 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI เท่ากับ 1:1.50 หมายความว่า จำนวนเงินงประมาณการดำเนินงานโครงการของ GISTDA ที่ใช้งบประมาณไปทุกๆ 1 บาท จะเกิดผลตอบแทนกลับมาในรูปของมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมหรือสร้างประโยชน์ทางสังคมเป็นจำนวน 1.50 บาท แสดงให้เห็นว่าโครงการฯที่เกิดจาการลงทุนของ GISTDA ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมาได้สร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน
.
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่าผลการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โครงการและแผนงานต่างๆของ GISTDA มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึง 2563 มีมูลค่ารวมประมาณ 569.85 ล้านบาท, 2,528.54 ล้านบาท, 2,691.72 ล้านบาท, 2,823.08 ล้านบาท และ 3,086.50 ล้านบาท ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารนสนเทศไปปรับใช้ในมิติต่างๆ ในการพัฒนาสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงการของ GISTDA ที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้งานจากภาคส่วนต่างๆอย่างแท้จริง
.
นอกจากนี้ GISTDA ยังได้ประเมินความคุ้มค่าโครงการในปี 2564 บางโครงการโดยอ้างอิง CIPP Model ในการประเมินความสำเร็จของโครงการ ประกอบกับพิจารณาจากผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ SROI และผลการประเมินความสำเร็จของโครงการในภาพรวม ได้แก่ โครงการระบบบริหารสถานการณ์รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2, โครงการพัฒนาระบบบริหารวิกฤตและการปฎิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าเชิงพื้นที่, และแผนการดำเนินงานโครงการสร้างคุณค่าจากระบบภูมิสารสนเทศแบบองค์รวม
.
ผลการศึกษาชี้ชัดว่าทั้ง 3 โครงการมีผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เท่ากับ 1:2.54 1:2.21 และ 1:6.42 ตามลำดับ นับได้ว่าทั้ง 3 โครงการมีความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ นอกจากนั้นแล้วผลการประเมินโครงการในภาพรวมทั้ง 3 โครงการได้คะแนน 96 94 และ 92 คะแนนตามลำดับจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน
.
ตัวเลขจากการประเมินด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรแห่งคุณค่าอย่างแท้จริงที่เกิดจากการทุ่มเทของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภายใน GISTDA และบุคลากรต่างๆที่เกี่ยวข้องจากภายนอกที่ร่วมกันผลักดันนำคุณค่าจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคมไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับจากนี้ไป GISTDA จะยังคงมุ่งมั่นทำเพื่อคนไทยและทำเพื่อสังคมไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไปด้วยนวัตกรรมจากอวกาศและภูมิสารสนเทศ
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #การประเมินผลลัพธ์ทางสังคม #SIA #คุณค่าทางสังคม #ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน #SROI #อว. #มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม #องค์กรแห่งคุณค่า #วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ #เป็นประโยชน์ต่อสังคม
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.