Head GISDTDA

อุตสาหกรรมอวกาศ การแข่งขันเพื่อการพัฒนา

อุตสาหกรรมอวกาศ การแข่งขันเพื่อการพัฒนา
.
     กว่า 65 ปี นับตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 โลกของเรามีดาวเทียมมากมายหลายหมื่นดวงที่ลอยอยู่ข้างบน มีทั้งดาวเทียมที่สามารถใช้งานได้และดาวเทียมที่หมดอายุแล้ว ต้องยอมรับว่าจากวันนั้นสู่วันนี้เทคโนโลยีอวกาศนั้นพัฒนามาไกลมากๆ ครับ และผมยังเชื่ออีกว่าเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศจะยังคงพัฒนาต่อเนื่องไปอย่างแน่นอน
.
     หากเราพูดถึงในเรื่องของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศแล้ว ตลาดการแข่งขันในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะหากพูดถึงเทคโนโลยีในด้านนี้แล้วทุกคนจะต้องนึกถึงหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก นั่นก็คือ NASA (National Aeronautics and Space Administration) หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ แต่ปัจจุบันนอกจาก NASA แล้ว ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SpaceX โดย Elon Musk , Blue Origin โดย Jeff Bezoz หรือแม้แต่ Virgin Galactic โดย Richard Branson
.
     การปรากฏตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายนั้นสร้างปรากฎการณ์สำคัญให้กับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ ส่งผลให้นานาประเทศตื่นตัวและยกระดับเทคโนโลยีอวกาศของตน ไม่ว่าจะเป็น องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (RKA) , องค์การอวกาศแคนาดา (CSA) , องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) หรือแม้กระทั่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ของไทยเราก็ตาม
.
     GISTDA มีโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) เป็นภารกิจสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านดาวเทียม ทั้งการออกแบบ สร้าง ประกอบและทดสอบเพื่อนำสู่ห้วงอวกาศ ให้สามารถใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน โดยวัตถุประสงค์หลักๆเพื่อสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชต (THAICHOT) ที่จะหมดอายุการใช้งาน โดยโครงการ THEOS-2 นั้น ประกอบด้วยการสร้างดาวเทียมทั้งหมด 2 ดวง คือ 1) ดาวเทียมหลัก (MainSat) สามารถถ่ายภาพที่ความละเอียด 0.5 ม. (ขาวดำ) และ 2 ม. (ภาพสี) 2) ดาวเทียมเล็ก (SmallSat) สามารถถ่ายภาพที่ความละเอียด 2 ม. (ขาวดำ) และ 8 ม. (ภาพสี)
.
     โดยนอกจาก GISTDA ที่เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนากำลังคนและเปิดโอกาสให้กับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรมากกว่า 22 ชีวิต ร่วมกับบริษัท Surrey Satellite Technology (SSTL) จากสหราชอาณาจักร ในกิจกรรม Know-How Transfer and Training (KHTT) ร่วมออกแบบและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งเร็วๆนี้ช่วงปลายปี 65 หรือต้นปี 66 เราจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการ THEOS-2 กันอย่างแน่นอน 
.
     แน่นอนว่า GISTDA ยังคงเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างมีส่วนร่วม อีกทั้งยังส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอยู่เสมอ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยเองไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้ซื้อเทคโนโลยีอย่างเช่นอดีต แต่สามารถที่จะผลิต สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาใช้เองได้แล้ว อีกทั้งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าว งานวิจัยด้านอวกาศภายในประเทศก็จะไม่เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไปเรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ ถึงปลายน้ำก็ว่าได้
#gistda #gistdaก้าวสู่ปีที่22 #THEOS2 #KHTT #จิสด้า #อว #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม  #spacetechnology #NewSpaceEconomy #อวกาศ #พัฒนาดาวเทียม #วิศวกรไทย #คนไทยทำได้

Phapawich Mahamart 4/2/2565 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง