Head GISDTDA

คราบน้ำมัน กับเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล

     จากข่าวน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวไทย เป็นอีกภัยพิบัติทางทะเลที่สำคัญสร้างความน่าสนใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ต่างกันมากนัก โดยเหตุการณ์แรกเป็นการอับปางของเรือบรรทุกน้ำมันดีเซล มีระยะห่างจากปากน้ำชุมพรประมาณ 24 ไมล์ทะเล เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 และเหตุการณ์ที่ 2 การรั่วไหลของน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565
.
     จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจและเร่งระดมความรู้ เครื่องมือ และพละกำลังเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่คอยติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยเทคโนโลยีด้านการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) ดังนั้น บทความนี้เราจะพาทุกท่านได้รู้จักกับการใช้ประโยชน์ด้วยการรับรู้ระยะไกลกันครับ
.
     Remote Sensing หรือ “การรับรู้จากระยะไกล” เป็นการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ พื้นที่ และปรากฏการณ์บนพื้นโลกจากเครื่องรับรู้ (Sensor) โดยปราศจากการเข้าไปสัมผัสวัตถุเป้าหมาย โดยอาศัยพลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic energy) เป็นตัวกลางในการได้มาของข้อมูลซึ่งมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ ลักษณะการสะท้อนช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Spectral characteristics) ลักษณะเชิงพื้นที่ของวัตถุบนพื้นโลก (Spatial characteristics) และลักษณะการเปลี่ยนแปลงของวัตถุตามช่วงเวลา (Temporal characteristics)
.
     โดยปกติแล้วหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ นอกจากการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมระบบเชิงคลื่นแสง หรือ ดาวเทียมระบบ Optical ที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Spectral characteristics) แล้วนั้น ยังนิยมใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่มีระบบเรดาร์ (RADAR) ตรวจจับคราบน้ำมันที่ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำทะเลได้อีกด้วย ซึ่งดาวเทียมประเภทนี้จะใช้หลักการตรวจวัดความขรุขระ (Roughness) ของพื้นผิววัตถุ โดยผิวน้ำทะเลที่มีน้ำมันปกคลุมอยู่จะมีความราบเรียบของพื้นผิวที่มากกว่าผิวน้ำทะเลทั่วไป เพราะฉนั้นในบริเวณดังกล่าวจึงมีสัญญาณสะท้อนกลับมาที่ดาวเทียมน้อยกว่าบริเวณข้างเคียง บวกกับคุณสมบัติความยาวคลื่นสูง จึงสามารถส่งสัญญาณทะลุก้อนเมฆได้ในเวลากลางวันและกลางคืนได้ หลักการดังกล่าวจึงทำให้เราสามารถตรวจจับคราบน้ำมันที่ลอยอยู่กลางทะเลได้นั่นเอง 
.
     สำหรับภัยพิบัติในครั้งนี้ GISTDA ได้ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่มีระบบเรดาร์ ทั้งหมด 3 ดวงด้วยกัน คือ Sentinel-1 , TerraSAR-X , และ RADARSAT-2 ที่มีรายละเอียดเชิงพื้นที่ระหว่าง 8-20 เมตร เพื่อให้การติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของคราบน้ำมันในทะเลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระบบเชิงคลื่นแสง ประกอบด้วย Thaichote (ไทยโชต) และ Sentinel-2 ที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Spectral characteristics) เพราะโดยปกติน้ำจะมีคุณสมบัติดูดกลืนพลังงาน แต่ในกรณีที่เกิดคราบน้ำมันลอยปะปนกับน้ำทะเลทำให้มีการดูดกลืนพลังงานแตกต่างกันออกไป ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ของการสะท้อนพลังงานในการสำรวจหรือตรวจจับคราบน้ำมันได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ภาพเปรียบเทียบก่อน-หลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อประเมินขอบเขตหรือพื้นที่ได้รับความเสียหายในเบื้องต้น
.
     นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่น 1) ระบบตรวจวัดคลื่นและกระแสน้ำในทะเล โดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงหรือที่เรียกว่าระบบเรดาร์ชายฝั่ง ประมวลผลร่วมกับแบบจำลองจาก NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) เพื่อคาดการณ์การแพร่กระจายตัวของคราบน้ำมัน และพื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ 2) Geo-Spatial for Maritime System (GMaS) ใช้คาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเลว่ามีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางใดจากตำแหน่งและเวลาที่ดาวเทียมถ่ายภาพ และมีโอกาสที่จะถูกคลื่นลมพัดพาขึ้นฝั่งได้หรือไม่ รวมไปถึงการแสดงผลตำแหน่งเรือที่ปฏิบัติการป้องกันและเก็บกู้คราบน้ำมันในขณะนั้น
.
     ส่วนข้อมูลที่ได้จากสถานีเรดาร์ชายฝั่งนั้น เราเรียกว่า ข้อมูลการตรวจวัดจากเรดาร์ ประกอบด้วย ข้อมูลตรวจวัดความเร็วและทิศทางลม ตรวจวัดความเร็วทิศทางของกระแสน้ำ ความสูงและทิศทางของคลื่นทางทะเล โดยข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดเรดาร์เหล่านี้ จะถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลกลางเรดาร์ชายฝั่งของจิสด้า ณ หน่วยปฏิบัติงานที่บางเขน และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อทำการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ก่อนส่งให้กับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องต่อไป
.
     จากเหตุกาณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง คราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำจะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นแสงอาทิตย์ที่เป็นองค์ประกอบในการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลเสียให้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในวงกว้าง ตั้งแต่ในทะเลไปจนถึงบนชายหาด ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการบริหารจัดการที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือและความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะปัญหาดังกล่าวกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

#GISTDA #จิสด้า #ก้าวสู่ปีที่22 #ระยอง #ชุมพร #คราบน้ำมันรั่ว #อ่าวไทย #ข้อมูลภูมิสารสนเทศ #ดาวเทียม #ไทยโชต #เรดาร์ชายฝั่ง
#ข้อมูลกระแสน้ำ #ทะเลและชายฝั่ง #นิคมมาบตาพุด #THEOS2 #ระบบดาวเทียมสำรวจโลก #ภัยพิบัติและมลพิษทางทะเล #ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

Phapawich Mahamart 31/1/2565 0
Share :