Head GISDTDA

Happy Birthday GISTDA

21ปี

21 ปี GISTDA เดินหน้าผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางของเศรษฐกิจอวกาศในภูมิภาคอาเซียน
.
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหลายคนคงจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของวงการอวกาศโลกถี่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของการส่งพลเรือนขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยไม่มีนักบินอวกาศตัวจริงขึ้นไปด้วย ความสำเร็จของการนำจรวดนำส่งกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงความสำเร็จของการส่งดาวเทียมรุ่นใหม่ขึ้นสู่วงโคจรและโครงการสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังและแนวโน้มวิวัฒนาการของโลกในอนาคตที่อาจจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมอวกาศ 
.
ในศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมอวกาศได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Space 3.0 หรือ ‘NewSpace’ ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาในการวิจัยสำรวจและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงได้ดึงดูดและกระตุ้นความสนใจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหม่จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค “Disruptive Technology” ที่กำลังจะมาถึง
.
อุตสาหกรรมอวกาศนับว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะมีความเกี่ยวข้องกับการยกระดับอุตสาหกรรมมากมายที่อยู่เบื้องหลัง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ แม้กระทั้งอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่คนทั่วไปหยิบจับไปใช้ได้ทันที แต่ผลจากการค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมอวกาศ จะทำให้เกิดองค์ความรู้และการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์
.
ประเทศไทย นับว่าอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของอุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบ โดยข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในปี 2562 ได้ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) ของประเทศไทย ระบุตัวเลขรายได้ในปี 2562 ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท
.
โดยที่ผ่านมา จิสด้าในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้ลงทุนด้านการวิจัยในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยานจากโครงสร้างพื้นฐานเชิงเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ระดับสากลผ่านห้องปฏิบัติการกาแลคซี่ หรือ ห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกในไทยที่ได้รับมาตรฐานด้าน Aerospace AS9100D
.
อีกทั้งเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางจิสด้าได้จัดตั้งศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียม และห้องปฏิบัติการ SOAR ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการวางแผนเส้นทางการบิน โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศสนับสนุนการจัดการน่านฟ้าและการเดินอากาศให้เป็นไปตามข้อบังคับระดับสากล
.
และเมื่อไม่นานมานี้ จิสด้าได้เปิดตลาดสู่ธุรกิจให้บริการสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียม เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านกิจการอวกาศในประเทศไทยมากขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Satellite Industry Association (SIA) เมื่อปีพ.ศ. 2562 ระบุว่าการให้บริการดาวเทียมมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 45%  ของอุตสาหกรรมดาวเทียมทั้งหมดหรือมีมูลค่า 123 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่อุตสากรรมผลิตชิ้นส่วนของสถานีรับสัญญาณดาวเทียมก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 48% หรือมีมูลค่า 130.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.7% จากปี 2561
.
ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นถึงการให้บริการรับส่งสัญญาณดาวเทียมและการผลิตชิ้นส่วนของสถานีดาวเทียมมีแนวโน้มเติบโตขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจของสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมนี้มีตลาดรองรับมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน บริษัท SSC (Swedish Space Corporation) ซึ่งเป็นองค์กรด้านอวกาศชั้นแนวหน้าของประเทศสวีเดนได้จัดตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมขึ้นในพื้นที่ของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นการลงทุนในธุรกิจอวกาศจากต่างประเทศธุรกิจแรกในประเทศไทย
.
นอกจากนั้น บริษัท Muse Space ซึ่งเป็นบริษัทด้านกิจการอวกาศของคนไทย ก็ได้ติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมในพื้นที่ของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศแล้วเช่นกัน นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการลงทุนด้านเศรษฐกิจอวกาศในประเทศไทยและความพร้อมของภาครัฐในการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีอวกาศ
.
ในฐานะที่ครบรอบ 21 ปี ของจิสด้า บทบาทหน้าที่ของจิสด้าในการผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศได้ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในแต่ละช่วงเวลา จนมาถึงวันนี้ด้วยประสบการณ์และความเชื่ยวชาญทั้งหมดที่สั่งสมมา จิสด้าพร้อมแล้วที่จะร่วมกับหน่วยงานอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ เดินเคียงข้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอวกาศไทย ในการสร้างระบบนิเวศอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศของคนไทย และผลักดันให้เราเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจอวกาศในภูมิภาคอาเซียน และเป็น Space Port แห่งใหม่ของโลกในอนาคต

Admin 3/11/2564 0
Share :