Head GISDTDA

5 แนวคิดใช้แผนที่…รับมือโควิด-19

ในยามนี้ที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” นอกจากเราจะได้รับข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวันซึ่งฟังแล้วก็หดหู่ใจทุกครั้ง ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความคุ้นเคยทุกวันเช่นกัน นั่นก็คือ ชื่อเมืองหรือประเทศใหม่ๆที่เกิดการระบาดขึ้นเกือบทุกวัน เรียกได้ว่าตอนนี้แทบจะจำไม่ครบถ้วนแล้วเพราะปัจจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศที่ยืนยันถึงการติดเชื้อแล้ว

 

   ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการระบาดของเชื้อไวรัสในครั้งนี้มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่อะไรบางอย่าง หากเราใช้แผนที่ทำความเข้าใจกับปัญหา แน่ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบมุมมองใหม่ในการจัดการ ว่าแต่ภูมิสารสนเทศหรือแผนที่จะสามารถให้ข้อมูลอะไรกับเราได้บ้างในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ไปดูกัน


1. ศึกษาการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ

เชื่อว่าข้อนี้ทุกคนนึกภาพออก เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาและเผยแพร่แผนที่เมืองและประเทศที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS หนึ่งในเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศผสมผสานกับข้อมูลสถิติและข้อมูลตำแหน่งของเมืองที่พบผู้ติดเชื้อจากหลากหลายแหล่ง นำเสนอในรูปแบบแผนที่ออนไลน์มาพร้อมการออกแบบที่ทันสมัยและยังสามารถตอบสนองกับผู้ใช้ได้ทันที ทำให้ข้อมูลในรูปแบบตารางเดิมๆที่สร้างความงงงวยให้เรามานานแสนนาน กลายเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจขึ้นมาทันตา หากใครยังไม่เคยเปิดแผนที่เมืองที่ได้รับผลกระทบ สามารถคลิกเข้าไปชมกันได้ที่ http://bit.ly/2xjRczg

นอกจากตำแหน่งเมืองที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อแสดงบนแผนที่ด้วยสัญลักษณ์ตามแต่นักพัฒนาจะออกแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นคือความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ในการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ จากจุดเริ่มต้นเริ่มกระจายสู่เมืองและประเทศโดยรอบตามลำดับและรวดเร็ว

หลังจากที่ได้เข้าไปลองเข้าไปสำรวจทุกเว็บไซต์ ก็อดชื่นชมผู้พัฒนาเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้ที่ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย ข้อมูลที่มากมายสรุปย่อเหลือแค่เพียงไม่กี่หน้า ยิ่งนำเสนอผ่านแผนที่ยิ่งทำให้ตระหนักถึงความรุนแรง นำมาสู่ความเข้าใจต่อสถานการณ์ เกิดการเตรียมความพร้อมรับมือ ป้องกันและหลีกเลี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม

 

2. ให้ข้อมูลสถานที่ที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลสถานที่ในที่นี้หมายถึง ตำแหน่งสถานพยาบาลที่รับตรวจหาเชื้อพร้อมข้อมูลราคาและลำดับคิวจอง ตำแหน่งร้านค้าที่จำหน่ายอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการป้องกันและรักษาพร้อมทั้งข้อมูลราคาและจำนวนของที่เหลือ รวมถึงตำแหน่งสถานที่ที่ผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วเดินทางไปในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าที่ผ่านมา เป็นต้น

หากมีการเผยแพร่ผ่านแผนที่บนแอพพลิเคชั่นออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านสมาร์ทโฟน แน่นอนว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก นำมาสู่การป้องกันที่ทั่วถึงและลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบได้ แต่เบื้องหลังนั้นไม่ง่าย เพราะจำเป็นต้องมีการเตรียมการออกแบบวิธีเก็บและอัพเดทข้อมูลให้เกิดความแม่นยำอันจะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือของระบบ

มีตัวอย่างความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศไต้หวันที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 47 คน ทั้งที่อยู่ใกล้กับประเทศจีนบริเวณที่เกิดการระบาดอย่างหนัก (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค. 63) โดยเผยแพร่ข้อมูลแหล่งจำหน่ายหน้ากากอนามัยพร้อมทั้งข้อมูลจำนวนที่เหลือในคลังสินค้าแบบอัพเดทเรียลไทม์ บนแผนที่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนั้นยังนำเสนอข้อมูลสถานที่ทุกแห่งในไต้หวันที่ผู้โดยสารของเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซส เคยเดินทางไปบนแผนที่ เพื่อเตือนให้ชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว สามารถเข้าถึงระบบได้ที่ http://bit.ly/336UqCd

 

3. แจ้งเตือน!

เมื่อเราเข้าใกล้แหล่งที่มีโอกาสติดเชื้อ : แนวคิดนี้เป็นจริงขึ้นมาแล้วในต่างประเทศเช่นเคย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนั่นก็คือ ประเทศเกาหลีใต้ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อมากเป็นอันดับต้นๆ แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันก็ลดลงมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่มีความเสี่ยงติดเชื้อผ่านแอพลิเคชั่น Corona100m ซึ่งพัฒนาโดยเอกชนรายหนึ่ง

แอพลิเคชั่นดังกล่าวทำการรวบรวมข้อมูลจากข้อมูลสาธารณะของรัฐบาลรวมถึงศูนย์ควบคุมโรคเกาหลีเพื่อแสดงข้อมูลที่ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 อาทิเช่น วันที่ตรวจพบ สัญชาติ อายุ เพศ และที่สำคัญที่สุดคือสถานที่ที่พวกเขาไปในเเต่ละที่พร้อมกับวันที่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลสถานที่ดังกล่าวจัดแสดงในรูปแบบแผนที่ให้เห็นการกระจายตัวของพื้นที่เสี่ยงทั้งหลาย

ข้อดีสำหรับผู้ที่ใช้งานแอพลิเคชั่นดังกล่าวคือ หากกำลังเดินทางเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อในรัศมี 100 เมตร ที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาข้างต้น ก็จะได้รับการแจ้งเตือนจากแอพลิเคชั่นเป็นลักษณะข้อความแจ้งเตือนบนหน้าจอ

 

4. แบ่งปันตำแหน่งแก่กันและกัน

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการป้องกันคู่ขนานไปกับการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับทั้งตัวเราเองและคนที่เรารัก ในกรณีที่เราหรือคนในครอบครัวต้องเดินทางไปต่างถิ่น สามารถแชร์ตำแหน่งของกันและกันให้ทราบแบบเรียลไทม์ได้ทันทีบนมือถือ ส่วนปลายทางก็จะเห็นตำแหน่งของเราเช่นกัน เพื่อความสบายใจของคนในครอบครัวในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้

หากมองในเรื่องของความปลอดภัยทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยกันตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อหรือเสี่ยงจากภัยอื่นๆได้ โดยเปรียบเทียบตำแหน่งปัจจุบันกับพื้นที่ที่เกิดเหตุตามข่าวหรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาด ซึ่งบางเว็บไซต์ตามข้อ 1 ให้ข้อมูลละเอียดถึงระดับจังหวัดที่การยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งนี่ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญที่เราสามารถไว้ใช้แจ้งเตือนกันและกันได้ ปัจจุบันมีหลายแอพลิเคชั่นรองรับฟังก์ชันดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น Google Maps, Life 360 เป็นต้น

 

5. บันทึกเส้นทางการเดินทางของเรา

ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมล้วนๆ ไม่ใช่แค่เพียงการกักตัวหากมีความเสี่ยงติดเชื้อ แต่ยังหมายถึงการเผยแพร่ข้อมูลการเดินทางของเราในอดีตแบบละเอียดกรณีที่เรากลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทุกคนทราบว่าสำคัญต่อการติดตามและเฝ้าระวังในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้เชื้อได้ลุกลาม

แอพลิเคชั่นแผนที่ออนไลน์หรือแม้กระทั้งสังคมออนไลน์มีฟังก์ชันบันทึกเส้นทางการเดินทางของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบเช็คอินหรือตั้งค่าให้ตลอดเส้นทางก็ยังได้ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสามารถหนึ่งของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่ปัจจุบันทุกคนเข้าถึงได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่โดยเฉพาะกับวิกฤติโรคระบาดแบบนี้

 

   จากแนวคิดทั้งหมดที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นจะเห็นว่าข้อมูลนั้นมีความสำคัญต่อการตั้งรับมากเพียงใด ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศักยภาพจริงของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่คือแนวคิดทั้งหมดปัจจุบันยังกระจัดกระจายอยู่คนละแอพลิเคชั่น หากจะใช้งานให้ครบก็ต้องติดตั้งกันหลายตัวหน่อย และการเตรียมการระบบต้องใช้เวลาสักระยะ ซึ่งประเทศไทยยังพอมีเวลาให้เตรียมตัวที่จะวางแผนกับระบบดังกล่าว

 

   ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราจำเป็นต้องเตรียมตัวตั้งรับให้มากกว่านี้ ไม่เพียงแต่การรักษาสุขอนามัยและความสะอาด แต่ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและเผยแพร่ข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ให้มีถูกต้อง แม่นยำและทันสมัย เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพี่น้องประชาชนเพื่อการป้องกันที่ถูกจุด ลดความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ ไม่ให้มาเกิดที่บ้านของเรา และเราจะไม่เสียหายไปมากกว่านี้แล้ว ถ้าเราหันมาเริ่มต้น “ร่วมมือกัน..แบ่งปันข้อมูล”

 

 

อ้างอิง

- WorldOmeter (11 Mar 2020), COVID-19 CORONAVIRUS OUTBREAK, accessed on 11 Mar 2020, WorldOdmeter website
Center for Infectious Disease Research and Policy, COVID-19 Maps & visuals, accessed on 10 Mar 2020, CIDRIP website
- Keoni Everington (07 Feb 2020), Taiwan platform includes over 100 apps showing mask availability in stores, accessed on 11 Mar 2020, Taiwannews website
- Techsauce Team (5 มี.ค. 2563), เกาหลีใต้สร้างแอปฯ ช่วยให้คนหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนติดเชื้อ COVID-19, เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563, เว็บไซต์ Techsauce.co

Admin 12/3/2563 2118 0
Share :