Head GISDTDA

เราสามารถขึ้นไปทำอะไรบนอวกาศได้บ้าง

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ ว่าอวกาศ จริงๆ แล้วมันคืออะไร 

“อวกาศ” ที่เรากำลังพูดถึงนี้ก็คือชั้นบรรยากาศที่สูงเหนือพื้นโลกขึ้นไปประมาณ 100 กิโลเมตรครับ ซึ่งที่บริเวณ 100 กิโลเมตรนั้น จะมีเส้นบางๆ ที่เรียกว่า "Karman line" แบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศโลกและอวกาศอยู่ครับ เป็นเส้นสีฟ้าบางๆ กะไม่ได้ว่ามีความหนาประมาณเท่าไร ซึ่งเราน่าจะเคยเห็นกันบ่อยๆ ในภาพถ่ายจากนอกโลกกันมาบ้างแล้วนะครับ

(ตามภาพด้านล่าง)

 

เมื่อเราอยู่สูงกว่า Karman line เราก็จะเจอสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงทันที หรือที่เรียกว่า Zero-gravity หรือ microgravity นั่นเองครับ ซึ่งสภาวะนั้นจะทำให้ร่างกายของเราล่องลอยไร้ทิศทาง เลือดไม่ตกหัวแม้ว่าเราจะตีลังกาอยู่ก็ตาม มันน่าอัศจรรย์มาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ไว้เลยคือ ในอวกาศไม่มีออกซิเจนให้เราหายใจครับ และเต็มไปด้วยรังสีคอสมิกอนุภาคสูง ที่พร้อมจะทำลายเซลล์ในร่างกายของเราทันที รวมไปถึงอุณหภูมิที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ในกรณีที่เราโดนแสงอาทิตย์ และถ้าเราอยู่ในความมืดไม่โดนแสงอาทิตย์ ก็จะเย็นถึง -150 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว

 

ว้าว.. ในอวกาศนี่มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายเลยทีเดียว

 

ทีนี้เราค่อยเริ่มมองครับ ว่าในอวกาศมีอะไรให้เราทำได้บ้าง ไม่สามารถทำได้บ้าง อย่างแรกที่เราต้องทำคือ ใส่ชุดนักบินอวกาศก่อนครับ ซึ่งเป็นชุดที่จะป้องกันรังสีและปรับความดันให้เรามีอากาศหายใจภายในชุดครับ (ตามภาพ)

จากนั้น เมื่อเราอยู่ในอวกาศ..เราจะล่องลอยอย่างไม่มีทิศทาง คล้ายๆกับเวลาอยู่ในน้ำ แต่ในน้ำเรายังว่ายได้ แต่ในอวกาศจะไม่มีอะไรให้เรายึดเหนี่ยวได้เลย ซึ่งนั่นหมายความว่า เราจะต้องมีพาหนะครับ เช่น ยานอวกาศ หรือสถานีอวกาศนั่นเอง

 

เริ่มเห็นวิธีการคิดกันบ้างแล้วใช่ไหมครับ ว่าตอนนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง

 

เราสามารถขับยานไปสำรวจดวงดาวต่างๆ ได้ครับ แต่ต้องเรียนวิศวกรรมและต้องรู้ space dynamics กันมาก่อนนะครับ และเราก็สามารถทำการศึกษาวิจัยถึงเรื่องต่างๆ บนสถานีอวกาศได้ แต่ก็ต้องเรียนวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ กันมาก่อนเช่นกัน  ดังนั้น เมื่อเราอยู่ในอวกาศ สิ่งที่เราต้องทำแน่ๆ ก่อนเลยก็คือ การสำรวจ และทำการศึกษาวิจัยครับ เพื่อให้รู้ว่า การที่เราต้องการจะทำอะไรในอวกาศนั้น เราจะทำได้หรือไม่ เช่น เราอยากสร้างบ้านในอวกาศ เราต้องใช้วัสดุอะไร สร้างได้ที่ไหน และจะขนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือหรือสิ่งปลูกสร้างไปอวกาศได้อย่างไร และทั้งหมดทั้งมวลนั้น เริ่มต้นที่ การสำรวจอวกาศนั่นเองครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาพ >>> jenibate.wordpress.com/2017/06/05/so-space-vs-atmosphere-but-its-all-sky/ และ fipoblog.de/tag/raumanzug/
ข้อมูล >> ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู นักวิจัย จากจิสด้า

#gistda #จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่20
#นักบินอวกาศ #เรื่องเล่าจากอวกาศ

Admin 8/6/2020 7634 0
Share :