Head GISDTDA

วิวัฒนาการกฏหมายอวกาศ

#วิวัฒนาการกฏหมายอวกาศ

ในยุคก่อนที่มนุษย์จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้สำเร็จ #กฏหมายอวกาศ เป็นเพียงทฤษฎีทางกฏหมายในความเพ้อฝันของนักกฏหมายระหว่างประเทศเท่านั้น ผ่านไปครึ่งทศวรรษหลังจากที่ #สหภาพโซเวียต ส่ง #ดาวเทียมสปุตนิก 1 ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ 2500 ปัจจุบันมีดาวเทียมโคจรรอบโลกประมาณ 6,542 ดวง แบ่งเป็นที่ยังใช้งานได้ 3,372 ดวง และที่หมดอายุกลายเป็นขยะอวกาศอีกจำนวน 3,170 ดวง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 อ้างอิงจาก Union of Concerned Scientists) แสดงให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมี #กฏหมายอวกาศ เพื่อความมั่นคงและไม่ถูกเอาเปรียบจากนานาประเทศในอนาคต บทความนี้เราจะพาไปย้อนดูความเป็นมา กว่าจะได้มาซึ่งกฏหมายอวกาศในปัจจุบัน

ย้อนไปใน #สมัยก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2457 เป็นยุคเริ่มต้นของการเกิดกฏหมายอวกาศและกฏหมายการบินระหว่างประเทศ ซึ่งกฏหมายอวกาศยังคงเป็นเพียงทฤษฎีของนักกฏหมายระหว่างประเทศ ส่วนการบินก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา ยังไม่มีกฏหมายบังคับเพื่อการบินอย่างจริงจังในขณะนั้น

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการนำ #เครื่องบิน และ #บอลลูน มาใช้ในการทำสงครามอย่างแพร่หลาย เพื่อความได้เปรียบศัตรูทางด้านยุทธการ ชาวโลกจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการบินทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และอันตราย ส่งผลให้เกิดการตื่นตัว เร่งรัดสร้าง #กฏหมายอากาศ หรือ #กฏหมายการบินระหว่างประเทศ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในรูปของ #อนุสัญญากรุงปารีส ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2462

ในทำนองเดียวกัน ในระหว่าง #สงครามโลก ครั้งที่ 2 พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของ #อากาศยาน และ #จรวด ที่ถูกนำมาใช้ระหว่างสงคราม เป็นที่มาของความคิดริเริ่มของมนุษย์ที่จะสำรวจและพิชิตอวกาศ อีกทั้งภายหลังความสำเร็จที่มนุษย์สามารถส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ดาวเทียมดวงแรกขึ้นไปโคจรในอวกาศรอบโลกได้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ทำให้แนวคิดการสร้างกฏหมายอวกาศกลับมาได้รับความสนใจของชาวโลกขึ้นอย่างจริงจัง และแน่อนทำให้กฏหมายอวกาศกลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

ก้าวแรกของการร่างกฏหมายอวกาศมุ่งเน้นการบังคับใช้เพื่อ #ความปลอดภัย อันเป็นผลจากประสบการณ์อันน่าสยดสยองที่ได้รับระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งทำให้มนุษย์ต้องคำนึเสถียรภาพ ความมั่นคงของรัฐ และสันติภาพของโลกซึ่งอาจถูกคุกคามจาการใช้อวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารเป็นประการแรก จึงได้แสดงออกมาในรูปของการประกาศหลักการในข้อมติของสหประชาชาติ เรียกร้องให้นานาชาติใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในทางสันติและทางวิชาการเท่านั้น

ในยุคนั้นการพัฒนาหลักฏหมายขึ้นมาปรับใช้กับกิจกรรมของมนุษย์อวกาศอยู่บนพื้นฐาน #การคาดการณ์ล่วงหน้า เท่าที่จะทำได้ว่าการใช้อวกาศน่าจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาได้บ้าง แล้วพยายามสร้างกฏเกณฑ์ที่คิดว่าจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้ปัญหานั้นเกิดขึ้น เนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องศักยภาพของเทคโนโลยียังไม่เพียงต่อการที่จะทำให้เห็นภาพการใช้ประโยชน์จากอวกาศได้ดีดังเช่นปัจจุบัน ทำให้การสร้างกฏหมายระหว่างประเทศที่จะนำมาใช้บังคับต่อกิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศ ทำได้เพียงลักษณะกว้างๆ และคร่าวๆ เพื่อให้ครอบคลุมเหตุการณ์ต่างได้มากที่สุด ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องสร้างกฏหมายนี้ขึ้นมาอย่างกระทันหันและรีบด่วนที่สุด

ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในสมัยนั้นทำให้ภาพของการใช้ประโยชน์จากอวกาศยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ด้วยเหตุนี้กลุ่มประเทศนี้จึง #มีบทบาทน้อยมากในการสร้างกฏหมายอวกาศในสมัยนั้นขึ้นมา และปล่อยให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจทั้งหลายเป็นผู้กำหนดหลักกฏหมายอวกาศ ส่งผลให้กฏหมายที่เกิดขึ้นในยุคนั้นจึงมีลักษณะที่เอื้ออำนวยในประเทศมหาอำนาจได้เปรียบในเกือบทุกเรื่อง

ในยุคต่อมา เมื่อความเจริญทางด้าน #วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ค้นพบช่องทางใหม่ๆ ที่จะทำให้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษกิจอย่างมหาศาลในหลายด้านจากการใช้อวกาศ ช่วงที่สำคัญที่สุดคือตอนที่สหรัฐสามารถส่งดาวเทียม Syncom III ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารที่มีวงโคจรแบบสถิตย์ (Geo-stationary satellite) ขึ้นไปโคจรอยู่ในวงโคจรได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2507 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าดาวเทียมมีประโยชน์ด้านการโทรคมนาคมได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพสูงมาก ทำให้ทุกชาติในโลกพากันตื่นตัวและดิ้นรนที่จะยื่นมือเข้ามาจัดการควบคุมกิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศ เพื่อขอแบ่งปันและรักษาผลประโยชน์ที่แต่ละประเทศ และควบคุมไม่ให้เกิดการนำไปใช้ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติ

นับตั้งแต่ พ.ศ.2502 สหประชาชาติได้ก่อตั้ง #คณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติ (#COPUOS) ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลกิจกรรมการสำรวจและใช้ประโยชน์อวกาศของรัฐต่างๆ ให้ปฎิบัติตามสนธิสัญญารวมทั้งประสานประเทศต่างๆในการศึกษาปรับปรุงสนธิสัญญา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 ฉบับ ได้แก่

  1. สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967
  2. ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศและการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968
  3. อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1972
  4. อนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1975
  5. ความตกลงว่าด้วยกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ค.ศ. 1979

ในตอนหน้าเราจะมาดูกันว่าสนธิสัญญาแต่ละฉบับมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

อ้างอิง
- Nibedita Mohanta. How many satellites are orbiting the Earth in 2021 ?. Published on 28 May 2021. Accessed via https://www.geospatialworld.net
- ศาสตราจารย์ จาตุรนต์ ถิระวัฒน์,กฎหมายอวกาศ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.

Admin 28/6/2564 2139 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง