Head GISDTDA

สื่อสารตามประสาดาวเทียม..

จากบทความที่แล้วแอดมินชวนคุยกันในเรื่องราวระบบภาคพื้นดินของดาวเทียม

https://www.facebook.com/328782391264/posts/10158868468691265/

ซึ่งระบบภาคพื้นดินของดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite Ground Segment) ประกอบด้วยส่วนงานหลัก 3 ส่วน คือ

  • การวางแผน-เตรียมคำสั่งในการถ่ายภาพ (Mission ground segment)
  • ติดต่อกับดาวเทียมและบริหารจัดการดาวเทียม (Control ground segment)
  • การรับสัญญาณและผลิตภาพถ่ายดาวเทียม (Image ground segment)

 

ครั้งนี้แอดมินจะเน้นอธิบายในส่วนของการติดต่อกับดาวเทียมและบริหารจัดการดาวเทียม

สำหรับหลักการพื้นฐานของการสื่อสารก็คือจะต้องมีการโต้ตอบ พูดคุยกันระหว่างคู่สนทนา สมมติ ถ้าผู้พูดต้องการสื่อสารกับผู้ฟัง สมองของผู้พูดจะสั่งงานให้เปล่งเสียงออกมาโดยใช้กล่องเสียงและปากเป็นอุปกรณ์ในการแปลงคำสั่งของสมองให้เป็นภาษาที่ผู้ฟังเข้าใจในรูปแบบของคลื่นเสียง ผ่านตัวกลางคืออากาศ แล้วคลื่นเสียงที่เปล่งออกมานั้นเดินทางมากระทบที่หูของผู้ฟัง จากนั้น หูของผู้ฟังเป็นอุปกรณ์ที่ทำการแปลงคลื่นเสียงนั้น ให้เป็นภาษาที่สมองของผู้ฟังเข้าใจ แล้วสมองของผู้ฟัง จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้พูด โดยการโต้ตอบกลับมาในวิธีการเช่นเดียวกันกับผู้พูด

แล้วถ้าเป็นดาวเทียมล่ะ..?? จะสื่อสารกันอย่างไร

หลักการจะคล้ายๆกับการสื่อสารของมนุษย์ แต่จะมีความซับซ้อนที่มากกว่า ในเชิงเทคนิค แน่นอนว่าการสื่อสาร จะต้องมีอย่างน้อย 2 คน คือ ผู้พูดกับผู้ฟัง สำหรับผู้พูดของการสื่อสารกับดาวเทียมคือ ระบบภาคพื้นดิน (Ground Station) และผู้ฟังคือดาวเทียม (Satellite) สมองของระบบภาคพื้นดินคือระบบการวางแผนถ่ายภาพ (Mission Ground Segment) ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ “คำสั่ง” ที่ต้องการให้ดาวเทียมดวงนั้นๆกระทำ ระบบวางแผนการถ่ายภาพส่งคำสั่งนั้นๆ ผ่านมายังระบบความคุมดาวเทียม (Control Ground Segment) ระบบนี้จะทำการแปลงคำสั่งนั้นๆ ให้อยู่ในรูปแบบของคลื่นความถี่ที่ดาวเทียมรู้จัก เปรียบเสมือนกล่องเสียง และส่งคลื่นความถี่นั้นโดยจานดาวเทียม (Antenna) เปรียบเสมือนปากของมนุษย์ ส่งผ่านตัวกลางคือชั้นบรรยากาศ ไปยังดาวเทียม โดยดาวเทียมจะมีเสาอากาศที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนหู รับคลื่นความถี่นั้นมาแปลงกลับเป็นภาษาที่ดาวเทียมเข้าใจพร้อมตอบสนองกับคำสั่งนั้นๆ แล้วโต้ตอบกลับมาด้วยวิธีเดียวกันกับระบบภาคพื้นดิน

“ภาษาที่ดาวเทียมเข้าใจ”ล่ะ เอ๊ะ ยังไง !!! ดาวเทียมมีหลายภาษาหรือ?

แอดมินจะเปรียบเทียบง่ายๆนะครับ ดาวเทียมก็เปรียบเสมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่ง ที่ถูกส่งไปยังอวกาศ ที่ใกล้ตัวเราที่เห็นได้ชัดตัวอย่างเช่น “โดรน” จะมีรีโมทส่งคำสั่งไปควบคุมการบินของโดรนบางรุ่น โดรนสามารถส่งภาพมาให้เราดูแบบ real-time ได้อีกด้วย ส่วนการผลิตดาวเทียมก็มีหลากหลายผู้ผลิต หลากหลายประเทศที่ผลิตดาวเทียม แต่ละเจ้าก็มีเทคโนโลยีของตนเองที่แตกต่ากัน ดังนั้น วิธีการส่งคำสั่งและวิธีการแปลงคำสั่งของแต่ละเจ้าหรือแต่ละค่ายจะต่างกันนั่นเอง เปรียบเสมือนเราไปคุยกับคนอังกฤษด้วยภาษาไทย เช่น ถามเค้าว่า “กินข้าวหรือยังครับ” เขาก็จะงงๆ ตอบสนองต่อกับคำพูดเราไม่ถูก แต่ถ้าถามว่า “Do you have breakfast?” คนอังกฤษก็เข้าใจและสามารถตอบสนองกับคำพูดเราได้นั่นเองครับ

สำหรับประเทศไทยตอนนี้เรากำลังจะมีดาวเทียมดวงใหม่อีก 2 ดวง ภายใต้โครงการเดียวกัน เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ที่มีชื่อว่า THEOS-2 MainSAT ผู้ผลิตคือ Airbus ของประเทศฝรั่งเศส และอีกดวงหนึ่งมีชื่อว่า THEOS-2 SmallSAT ผู้ผลิตคือ Surrey Satellite Technology Ltd. หรือ SSTL ของประเทศอังกฤษ และเหล่าวิศวกรทั้งหมด 22 คน ก็ได้เรียนรู้อย่างเต็มระบบกับการสร้างดาวเทียมกับ SSTL จนครบสมบูรณ์แล้วและพร้อมที่จะพัฒนาวงการอวกาศของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลให้ได้ ความฝันนี้ ไม่เกินฝีมือคนไทยหรอก จริงไหมครับ แอดมินเอาใจช่วยเหล่าวิศวกรคนเก่งของ GISTDA ทุกคนนะครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

ธงชัย  ตรีอินทอง
Satellite Control Engineer
โครงการTHEOS-2 SmallSAT
#จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #space #Thailand #อวกาศ #mhesi #อว #GISTDA #ดาวเทียม #gistdathenameyoucantrust

Admin 8/4/2021 1606 0
Share :