Head GISDTDA

ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง

“ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง”    ฟังดูแล้วบางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไร แต่ถ้าบอกว่า ภาพดาวเทียมจากกูเกิ้ลแมพ ภาพที่ทำให้เราเห็นหลังคาบ้านได้ชัดเจน เชื่อว่าหลายคนก็จะเข้าใจตรงกันถึงลักษณะของข้อมูลที่เรากำลังจะมาขยายความกันในบทความนี้ ซึ่งประโยชน์ของมันมีมากกว่าใช้เพื่อการนำทาง ส่องหลังคา ตรวจหาวัตถุลึกลับ เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันมันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับทุกๆคน ไปจนถึงระดับประเทศกันเลยทีเดียว

หนึ่งในคุณสมบัติที่แตกต่างกันของภาพถ่ายจากดาวเทียมของแต่ละดวงนั่นก็คือ รายละเอียดจุดภาพ หรือ Spatial Resolution สิ่งนี้ทำให้เราสามารถแบ่งประเภทของภาพถ่ายจากดาวเทียมออกเป็น รายละเอียดสูง รายละเอียดปานกลาง และรายละเอียดต่ำ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม WorldView-2 มีรายละเอียดจุดภาพ 50 เซนติเมตร ภาพถ่ายของดาวเทียมไทยโชตมีรายละเอียดจุดภาพ 2 เมตรจัดอยู่ในกลุ่มภาพรายละเอียดสูง ส่วนภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat มีรายละเอียดจุดภาพ 30 เมตรจัดอยู่ในกลุ่มภาพรายละเอียดปานกลาง เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป

รายละเอียดจุดภาพ 50 เซนติเมตร ความหมายของมันก็คือ 1 จุดภาพ หรือ 1 พิกเซล จะมีขนาดพื้นที่เท่ากับ 50 x 50 เซนติเมตรบนพื้นที่จริง หรือหากลองคิดกลับกัน วัตถุบนพื้นโลกที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 x 50 เซนติเมตร ก็จะสามารถมองเห็นได้ในภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง เช่น รถยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน เรือที่กำลังแล่นกลางมหาสมุทร หรือแม้กระทั่งแคมปิ้งบนลานกลางเต็นท์ เป็นต้น

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ดาวเทียมบางดวงสามารถถ่ายภาพด้วยรายละเอียดจุดภาพ 30 เซนติเมตร หากไม่นับรวมกับภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากโดรนแล้ว นี่ถือเป็นรายละเอียดจุดภาพที่ละเอียดมากที่ถ่ายด้วยมุมมองจากอวกาศสู่พื้นผิวโลก ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคตกิจกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นภายนอกอาคาร หรือข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมพื้นผิวโลกทั้งที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ จะถูกเก็บบันทึกเป็นภาพนิ่งไว้ในคลังข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมอย่างละเอียด ต่อเนื่องและครบถ้วน รอเวลาให้นักภูมิสารสนเทศแปลตีความเมื่อมีเหตุจำเป็น!!!

การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมโดยเฉพาะดาวเทียมรายละเอียดสูงเพื่อการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งปกคลุมพื้นผิวโลก อาทิ การตรวจสอบการบุกรุกป่า หรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นการประยุกต์ใช้ที่ปัจจุบันเราเห็นได้ทั่วไป แม้กระทั่งตามสื่อต่างๆ ด้วยรายละเอียดของข้อมูลทำให้เราสามารถจำแนกได้แม้กระทั้ง ซึ่งหากใช้ควบคู่กับภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากโดรนก็จะยิ่งทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลทั้งสามประเภทนี้มีวิธีการแปลตีความที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังมีข้อเด่นและข้อด้อยที่แตกต่างกัน แต่เสริมกันได้เป็นอย่างดี

การวางแผนระบบสาธารณูปโภค เป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อนโดยเฉพาะการวางโครงข่ายให้ครอบคลุมและเข้าถึงพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ต้องอาศัยการวางแผนเชิงพื้นที่ที่สมเหตุสมผล ข้อมูลจากดาวเทียมรายละเอียดสูงสามารถนำมาใช้ประกอบการวางแผนและสร้างความเข้าใจบริบทของพื้นที่ได้เป็นอย่างดีก่อนการลงมือปฎิบัติ

ในยามภัยพิบัติหลายพื้นที่นั้นเข้าถึงได้ยาก การประเมินความเสียหายเพื่อการช่วยเหลือหรือสรุปตัวเลขความสูญเสียนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้ข้อมูลภาพรายละเอียดสูงในอดีตมาเปรียบเทียบกับภาพหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาให้ถึงมือผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริงสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

ในภาวะที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศหรือภาวะสงคราม ข้อมูลนับได้ว่ามีค่ายิ่งกว่าทองคำที่จะสามารถช่วยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้เพราะรู้เขารู้เรา ดังนั้นประเทศที่เป็นเจ้าของดาวเทียมมักจะได้เปรียบอยู่เสมือนกับเป็นดวงตาจากห้วงอวกาศเพื่อการสอดส่องความเคลื่อนไหวของคู่กรณี

จะเห็นว่าปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงที่หลากหลาย รวมถึงเป็นข้อมูลตั้งต้นให้กับการพัฒนานวัตกรรมอีกมากมาย ด้วยการเข้าถึงข้อมูลไม่ซับซ้อนเหมือนอดีตที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนเกือบทุกเครื่องก็สามารถเข้าถึงได้แล้วด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างที่ยกมานั้นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งที่มีการใช้งานจริงในปัจจุบัน ต่างกันตรงที่ บางกรณีต้องอาศัยข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดเพื่อสร้างระบบที่ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน และบางกรณีต้องการค้นหาหรือพิสูจน์ความเป็นจริงในสังคม ซึ่งหากเราไม่ปิดกั้นแล้ว เทคโนโลยีย่อมมีส่วนส่งเสริมให้เราได้พบคำตอบบนพื้นฐานความเป็นจริงเสมอ

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #จิสด้า #GISTDA #ภาพจากดาวเทียมไม่โกหก #ภาพถ่ายจากดาวเทียม #รายละเอียดสูง #การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ #บุกรุกป่า

Admin 24/3/2564 20464 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง