Head GISDTDA

GISTDA 2 ทศวรรษ รังสรรค์คุณค่าจากอวกาศเพื่อการพัฒนาประเทศ

“เทคโนโลยีอวกาศสามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างไร?” หากย้อนหลังไปประมาณ 20 ปีก่อน คำถามนี้อาจจะเป็นภาพจินตนาการที่ยากสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต่างมองว่า อวกาศเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ด้วยนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในไทยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ทำให้ภาพของการใช้นวัตกรรมจากอวกาศในประเทศไทยค่อยๆชัดเจนขึ้นและกลายเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทย สร้างการยอมรับเป็นวงกว้างถึงความสำคัญของอวกาศและภูมิสารสนเทศ และนี่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของก้าวเล็กๆบนเส้นทางอันอีกยาวไกลของ “GISTDA”

GISTDA ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น โดยการรวมสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน ได้แก่ กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 ในนามของ "สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)"

ภารกิจสำคัญในช่วงเวลานั้นคือการเร่งสร้างให้สังคมไทยตระหนักรู้ถึงความประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ อาทิ การให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศ การให้บริการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมในและคำปรึกษา การพัฒนาบุคลากรด้านการสำรวจด้วยข้อมูลจากดาวเทียม การส่งเสริมให้เกิดการใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศ และเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับระบบสำรวจข้อมูลจากระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาGISTDA ได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาที่ประเทศยังคงต้องเผชิญ ทั้งทางด้านการให้บริการข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชน การสร้างเครือข่ายวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ปรับปรุงกระบวนพัฒนาบุคลากร ผลักดันให้เกิดโครงการและงานวิจัยที่เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ จนกระทั้งประเทศไทยได้ส่งดาวเทียมไทยโชตขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และนำข้อมูลจากดาวเทียมไทยโชตมาประยุกต์ใช้ในภารกิจสำคัญของประเทศ สร้างคุณค่านานับประการทั้งที่เห็นเป็นประจักษ์ตามสื่อและอยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนประเทศมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอวกาศจากภายนอกประเทศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ GISTDA มีการปรับปรุงบทบาทอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลังมานี้ หลายหน่วยงานเปิดการเข้าถึงข้อมูลจากดาวเทียมมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของความต้องการใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นโอกาสที่ GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศได้ปรับเปลี่ยนบทบาทเข้าสู่การเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานได้ทันการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้วยคุณค่าในตัวของข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเอง ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้านและนำเสนอปัญหาในรูปแบบเชิงพื้นที่ ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมองเห็นภาพรวมและระบุต้นตอของปัญหาได้ สามารถกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขได้ตรงจุด ทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสังคมไทยมากมายที่ GISTDA ได้พัฒนาขึ้น เช่น ระบบ Government Map Online Service (G-MOS) ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริการแผนที่ออนไลน์ (GISTDA Portal) ระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ระบบติดตามเตือนภัยมลพิษและภัยพิบัติทางทะเล เป็นต้น

ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 GISTDA ได้เปิดตัวอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Krenovation Park (SKP) ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาภารกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดการวิจัยด้านอุตสาหกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตัวเองได้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสำรวจโลกบนฐานของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศในเชิงพาณิชย์ให้ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้เกิดวงจรอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมนับตั่งแต่นั่นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน SKP นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของศูนย์ปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ยังเป็นที่ตั้งของ Space Inspirium แหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัย เช่น ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร(SCGI) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมอาเซียนด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้(ARTSA) ห้องปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ(GALAXI) หน่วยพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR) และศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมด้าน GNSS (GiNNo) เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญให้การพัฒนาบุคลากร องค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติและมีความเป็นสากล

นอกจากนี้ในปัจจุบัน GISTDA อยู่ในระหว่าการดำเนินโครงการ THEOS-2 โครงการที่ไม่ใช่แค่เพียงการพัฒนาตัวดาวเทียมเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่บูรณาการเครื่องมือทางเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไว้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ(ตัวดาวเทียมและการนำส่งขึ้นสู่วงโคจร) กลางน้ำ(ระบบคลังข้อมูล บริการภาพถ่ายและผลิตภัณฑ์เพิ่มค่า) และปลายน้ำ(ระบบประยุกต์การใช้งานของหน่วยงานตามภารกิจต่างๆของประเทศ) เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศภายในประเทศ

โครงการ THEOS-2 ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า  Actionable Intelligence Policy : AIP เป็นนวัตกรรมการหลอมรวมข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่หลากหลาย ข้อมูลจาก Crowd Sourcing และเทคโนโลยี Internet of thing ผ่านการประมวลผล วิเคราะห์และคาดการณ์ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Artificial Intelligence และ Machine Learning เพื่อสร้างการตัดสินใจเชิงนโยบายบนหลักฐานที่เป็นจริง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในระดับนโยบาย

จะเห็นได้ว่าจากผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียมสู่นักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศและอุตสาหกรรมอวกาศ เป็นบทบาทที่ก้าวกระโดดในช่วงเวลาเพียง 20 ปี ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนภารกิจของ GISTDA ให้ทัดเทียมสถานการณ์โลกอยู่เสมอ และยิ่งไปกว่านั้นหลังจากโครงการ THEOS-2 ประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยนแปลงบทบาทใหม่ของ GISTDA อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง สู่การเป็น “ผู้กำหนด” (Agenda Setter) ที่มีส่วนร่วมในการวางแผนการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ปรากฏบนข้อมูล

2 ทศวรรษกับการสั่งสมประสบการณ์จน GISTDA เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกโดยเฉพาะในระดับอาเซียน ได้รับความเชื่อมั่นจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นต้นแบบถ่ายทอดประสบการณ์ประยุกต์ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่ประเทศอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของความสำเร็จของก้าวเล็กๆบนเส้นทางอันอีกยาวไกลของGISTDA สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่งและกำลังเดินหน้าด้วยความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ เพราะอวกาศคือพื้นที่แห่งโอกาสเพื่ออนาคตของประเทศ ต่อจากนี้ไปGISTDAจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่า “นำคุณค่าจากอวกาศและภูมิสารสนเทศสู่สังคม

Admin 4/11/2020 1004 0
Share :