25 พฤษภาคม 2566 GISTDA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งสิ้น 26 หน่วยงาน ภายใต้โครงการ “ธัชวิทย์” หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทย์สมรรถนะสูง โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและสักขีพยาน ซึ่งภายหลังการลงนามร่วมแล้ว ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้การต้อนรับและนำชมนิทรรศการ THEOS-2 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นิทรรศการ THEOS-2 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
“ธัชวิทย์” มีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ ได้แก่ 1) Frontline Think Tank หรือคลังความคิดนักวิทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ 2) Frontier Science Alliance การทำวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier research)ผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ 3) Future Graduate Platform หรือการสร้างและพัฒนาบัณฑิตวิทยสมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
การลงนามครั้งนี้ GISTDA จะร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามเราไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าฯ ได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ อีกทั้งยังประหยัดเวลา แรงงานคนที่ต้องใช้ในการสำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจอีกด้วย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับการตรวจวัดการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกด์ด้วย เทคนิคความแปรปรวนร่วมแบบหมุนวน (Eddy covariance technique) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากลในการใช้ตรวจวัดความเข้มข้นและการเคลื่อนที่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของระบบนิเวศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในแบบจำลองคณิคศาสตร์เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือประเมินการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับวิธีการตรวจวัดและระดับความถูกต้องของข้อมูลให้อยู่ในระดับสูงที่สุดคือ Tier 3 ทั้งนี้สามารถแสดงผลได้ทั้งแบบรายเดือนและรายปีถือเป็นหลักสูตรการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพในระดับสากล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ