Head GISDTDA

จากพลังความร่วมมือ ผสานเทคโนโลยี สู่ “Zero Seoul”


   เกาหลีใต้ดินแดนแห่งฝัน ที่ใครๆก็มักจะไปตามรอยซีรีย์กัน ที่นี่มีอะไรดีๆมากมายเลยทีเดียวและเป็น 1 ใน 21 เขตเศรษฐกิจที่รวมกันเป็น APEC เป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดในอันดับต้นๆของโลกและมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย

   วันนี้..แอดมินได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ GISTDA ท่านเล่าให้ฟังในเรื่องของเทคโนโลยีที่มีอยู่ของเกาหลีใต้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยือนเกาหลีใต้หลายครั้งเพื่อร่วมหารือสร้างความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาร่วมกันทั้งด้านองค์ความรู้ บุคลากรตลอดจนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีซึ่งมีความน่าสนใจมาก และมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือ ไม่ว่าจะเดินทางไปทางไหนในกรุงโซลมักจะเห็นคำว่า “Zero Seoul” 

   “Zero Seoul” คือความร่วมมือกันเพื่อจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในกรุงโซล ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาคเอกชน ประชาสังคม ภาครัฐและกรุงโซล ร่วมกันดำเนินการลดขยะภายในกรุงโซลโดยเป็นการส่งเสริมที่เข้มข้นมากกว่าเมืองอื่นๆในประเทศ เหตุปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการลดปริมาณขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมาตรการล๊อคดาวน์ โดยเฉพาะพลาสติก ที่มาจากการใช้บริการ delivery  ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะประกาศห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับรับประทานในร้าน นอกเหนือจากนั้น โครงการ “Zero Seoul”  ยังได้คำนึงถึงการบริโภคในรูปแบบของ Zero cafe / Zero Restaurant และ Zero Market ดังนี้

  • Zero café เน้นการใช้แก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (reusable) สำหรับลูกค้าที่ Take away โดยจะมีการตั้งจุดเพื่อรับแก้วที่ใช้แล้วในบริเวณที่กำหนดของกรุงโซล
  • Zero Restaurant มุ่งการ Delivery อาหาร โดยใช้ภาชนะสแตนเลสแทนพลาสติก เมื่อรับประทานแล้ว ผู้บริโภคจะสามารถส่งคืนภาชนะผ่านกระบวนการ delivery กลับไปยังร้านอาหาร โดยกรุงโซลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรับภาชนะคืนและการล้างทำความสะอาด 
  • Zero Market เป็นร้านค้าที่งดใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกและส่งเสริมให้นำภาชนะมา Refill เช่น สบู่ น้ำยาซักฟอก เป็นต้น

   ด้วยแคมเปญที่ว่ามานี้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ ผ่านแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะ ที่เรียกว่า Seoul Smart map ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆทั้งในด้าน สุขภาพ การท่องเที่ยว รวมทั้ง ตำแหน่งร้านและโปรโมชั่นต่างๆ ผ่านมือถือ โดย เทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ข้อมูลจากอวกาศเป็นพื้นฐาน ทั้งในส่วนของแผนที่ และ ตำแหน่งจากดาวเทียมนำทาง เพื่อสร้างระบบอัจฉริยะและยังมีการทำงานอย่างเป็นระบบร่วมกับค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของเกาหลี คือ SK Telecom (SKT) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการคืนเงินแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น T-money บัญชีธนาคาร เป็นต้น โดย SKT ร่วมกับกรุงโซล วางแผนที่จะดำเนินการรณรงค์เพื่อลดจำนวนแก้วบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เป็นจำนวน 10 ล้านถ้วย

   มามองที่บ้านเรากันบ้าง ในอดีต กรุงเทพฯ ได้ดำเนินการจัดการปัญหาขยะในช่วงระยะเวลามากว่า 20 ปี หากใครจำได้ ในยุค 80 ยุค 90 ได้มีโครงการที่คนรุ่นก่อนจดจำได้เป็นอย่างดีในชื่อ “ตาวิเศษเห็นนะ” โดยจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองหลวงที่สกปรกอันดับต้นๆของโลก จนถึงทุกวันนี้  เรายังไม่สามารถจัดการขยะอย่างเป็นระบบแบบครบวงจรได้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องมาช่วยกันอย่างจริงจัง ดำเนินการในเรื่องขยะของเรา โดยเริ่มต้นจาก 2 มือเราเองช่วยกันทิ้งเป็นที่ คัดแยกขยะให้ถูกต้องเพื่อบ้านเมืองที่น่าอยู่ของเรา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อสุขภาวอนามัยที่ดีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แอดมินเชื่อว่าคนไทยทุกคนทำได้ เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้การกำจัดขยะแบบครบวงจรได้สำเร็จเร็วยิ่งขึ้น และที่สำคัญเทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราอีกต่อไปครับ

amorn.pet 22/11/2565 1
Share :