#Space_Technology_Against_Extreme_Weather
#รับมือสภาพภูมิอากาศสุดขั้วด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
.
สภาพภูมิอวกาศสุดขั้ว หรือ Extreme Weather เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในวงกว้างทั่วโลกในตอนนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศสุดขั้วที่ทำให้เกิดภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นอย่างฉับพลัน
.
กล่าวกันตามตรง เราอาจไม่สามารถทำให้อุณหภูมิโลกลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่เทคโนโลยีอวกาศสามารถช่วยได้ คือการชะลอผลกระทบร้ายแรง ด้วยการรับมือกับภัยพิบัติอย่างทันท่วงที แต่วิธีการเป็นอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เราลองไปดูกัน ว่าทั่วโลกรับมืออย่างไรในวันที่เผชิญผลกระทบจากภูมิอากาศสุดขั้ว
.
เริ่มจากหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักกันดีในด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ หรือ NASA ได้พัฒนาระบบ AccuWeather เพื่อศึกษาความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งจะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วโลก และสามารถคาดการณ์สภาพอากาศรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติได้ เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรงได้ทันท่วงที ลดความเสียหายจากผลกระทบได้
.
ไม่เพียงแต่การติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลกเท่านั้น NASA และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ยังได้มีการศึกษาสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของทั้งธรณีภาค มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิด Extreme Weather อาจไม่ใช่เพียงผลที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นบนโลกของเราเท่านั้น แต่อาจมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอวกาศด้วยเช่นกัน
.
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาโดยการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียม Copernicus Sentinel-5P ซึ่งสามารถตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ ทำให้สามารถทราบได้ว่ากิจการประเภทใดที่ส่งผลกระทบมากที่สุด นำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสม รวมถึงดาวเทียมสำรวจโลก NISAR ที่มีการติดตั้งเรดาร์ถึง 2 ตัว ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วโดยเฉพาะ
.
ในส่วนขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ได้ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการพัฒนาดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTG-I1 ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การยุโรปเพื่อการใช้ประโยชน์ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (EUMETSAT) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการคาดการณ์เพื่อแจ้งเตือนผลกระทบร้ายแรงทั่วโลกจากสภาวะอากาศสุดขั้วได้อย่างแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น โดยดาวเทียม MTG-I1 มีกำหนดส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสู่วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary) ในปลายปี 2022 นี้ และในปีถัดไป มีกำหนดส่งเพิ่มอีก 3 ดวง โดยเป็นดาวเทียมบันทึกภาพ (MTG-I) 1 ดวง และดาวเทียมบันทึกเสียง (MTG-S) อีก 2 ดวง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ประโยชน์จากเสียงในอวกาศ ยิ่งมีเครื่องมือและข้อมูลมากเท่าไหร่ การติดตามความเปลี่ยนแปลงและคำนวณคาดการณ์จะเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น
.
แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้เพียงเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ต้องอาศัยหลายส่วนในการประกอบสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากดาวเทียม เทคโนโลยีเลเซอร์และเรดาร์แบบใหม่ เทคโนโลยีภาพ 3 มิติ มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเฉพาะด้าน เป้าหมายเบื้องต้นคือการได้มาซึ่งข้อมูลในแต่ละห้วงเวลาที่มีคุณภาพและเพียงพอ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโมเดลสำหรับวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดี
.
ในส่วนของประเทศไทย ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติเป็นหนึ่งในประเด็นที่ GISTDA ให้ความสำคัญอย่างมากเสมอมา โดยหนึ่งในเป้าประสงค์หลักของการใช้ประโยชน์ดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A คือการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่าเครื่องมือเดียวหรือข้อมูลเพียงชุดเดียว ไม่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการสนับสนุน
.
เพราะข้อมูลที่ดีจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่เรียกว่า Actionable Intelligence Policy หรือ AIP ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งเป็นเครื่องมืออัจฉริยะสำหรับวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่จากหลายแหล่ง สามารถสังเคราะห์ประเด็นปัญหาพร้อมด้วยข้อมูลเชิงลึก ในบริบทเชิงพื้นที่ เวลา และเป้าหมายเฉพาะได้อย่างตรงจุด เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของภาครัฐและนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นฐานในการบริหารจัดการนโยบาย และติดตามผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
นอกจากนี้ GISTDA ยังสนับสนุนงานวิจัยระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System Frontier Research) หรือที่เรียกว่า “ESS” ซึ่งเป็นการบูรณาการข้ามสาขาบนฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ มุ่งเน้นการ “สร้าง” ทั้งองค์ความรู้ใหม่ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี นวัตกรรม บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็น “เลิศ” ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้ว การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast) ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ ESS ให้ความสำคัญให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา
.
เพราะอวกาศอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด การศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่การใช้ประยุกต์ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศสามารถลดผลกระทบรุนแรงจากความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่า และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้วที่นับวันจะทวีความรุนแรง
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.