Head GISDTDA

“GISTDA” จับมือ “กรมอุตุฯ” ใช้ภูมิสารสนเทศพัฒนางานวิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศเชิงพื้นที่

“GISTDA” จับมือ “กรมอุตุฯ” ใช้ภูมิสารสนเทศพัฒนางานวิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศเชิงพื้นที่
10 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 
โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนางานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศเชิงพื้นที่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วมพิธีลงนามฯ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 GISTDA ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาพัฒนางานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภูมิอากาศ ภายใต้โครงการ Sphere ซึ่งเป็น Platform ที่ครอบคลุมข้อมูลด้านแผนที่ในรูปแบบ Open Geospatial Platform โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน อาทิ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากฤดูกาลและปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำที่เกิดจากการทิ้งช่วงของฝน หรือการใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในการประเมินความเสียหายจากภัยที่เกิดจากสภาพอากาศเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัย 
ข้อมูลภูมิสารสนเทศจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงานในทุกมิติภายใต้ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยา  สามารถนำมาพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสองหน่วยงานได้อีกด้วย ซึ่ง GISTDA เชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางการวิจัยที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะการคาดการณ์แนวโน้ม รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
ทางด้าน นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า GISTDA และ กรมอุตุนิยมวิทยา จะร่วมกันศึกษา วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีที่ทั้ง 2 หน่วยงานมี จะถูกนำมาบูรณาการร่วมกันในการติดตามข้อมูลสภาพอากาศตามข้อเท็จจริงและจะร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรด้านข้อมูล ด้านองค์ความรู้
ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันทั้งด้านอุตุนิยมวิทยาและด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อม การรับมือ และการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

Nattakarn Sirirat 10/11/2565 0
Share :