Head GISDTDA

SPACE Update : ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อการประยุกต์ใช้

 

เทคโนโลยีอวกาศ เป็นชื่อที่ฟังดูห่างไกลจากเรามากเลยใช่ไหมครับ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย หนึ่งในเทคโนโลยีอวกาศที่ใกล้กับชีวิตประจำวันของเรามากก็คือ “ดาวเทียม” ซึ่งโคจรอยู่รอบโลกคอยเฝ้าสังเกตความเป็นไปของโลกอยู่ในทุก ๆ วัน ด้วยระยะห่างจากโลกและประสิทธิภาพของกล้องบนดาวเทียมแต่ละดวง ร่วมกับการทำงานจากศูนย์ควบคุมภาคพื้น พวกมันจึงมองเห็นโลกได้กว้างไกลกว่าสายตาของมนุษย์ และกลายเป็นผู้เฝ้าระวังภัยหลาย ๆ อย่างที่ตาเปล่าของเรามองไม่เห็น

 

“ไทยโชต” ที่กำลังปฏิบัติภารกิจในอวกาศ และ “THEOS-2A” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบดาวเทียมขั้นสุดท้ายก่อนการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในช่วงต้นปีหน้า เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย อาทิ การบรรเทาและลดผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมร่วมกับเครื่องมือจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อบอกข้อมูลให้กับประชาชนผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปพลิเคชั่น #เช็คฝุ่น, การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร โดยข้อมูลจากดาวเทียมสามารถใช้ในการตรวจสอบ วางแผน และกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ หรือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาบริหารจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นน้ำท่วมขัง ไฟป่าหมอกควัน การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น เพื่อให้การติดตามสถานการณ์เป็นไปอย่างทันท่วงที ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนป้องกันและบรรเทา เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการฟื้นฟูความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม

 

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบและล้วนเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของทุกคน และดาวเทียม THEOS-2A ที่อยู่ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งอยู่ในช่วงของการทดสอบทั้งระบบ นั้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศได้อย่างยั่งยืนและสมดุล

amorn.pet 13/7/2565 591 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง