Head GISDTDA

RTK เชื่อมโยงจากดาวเทียม สู่สังคมไทย

หลายคนคงได้ยินเรื่องราวของ ATK และ RTK กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์  แน่นอนว่าถ้าเป็นเรื่องราวของเทคโนโลยีอวกาศ แอดมินไม่พลาด…ที่จะหยิบยกเรื่องราวเหล่านี้มาชวนพูดคุยกันในเพจเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจไปพร้อมกันครับ 
.
#RTK มีชื่อเต็มว่า Real Time Kinematics เป็นวิธีการรังวัดค่าพิกัดตำแหน่งที่มีความแม่นยำในการระบุตำแหน่งระดับเซนติเมตร ณ เวลาปัจจุบันที่มีการเก็บข้อมูล สามารถระบุพิกัดและตำแหน่งของจุดต่างๆ ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งให้ความแม่นยำสูงในระดับเซนติเมตร และเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการรังวัดที่ดิน ซึ่งปัจจุบันนั้นสามารถทำได้ง่ายโดยใช้ระบบสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร(Continuously Operating Reference Station หรือ CORS) ซึ่งรับข้อมูลจากระบบดาวเทียม GNSS ปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายโดยใช้ระบบเครือข่ายสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร (Continuously Operating Reference Station หรือ CORS) โดยระบบ CORS ปัจจุบันได้มีการนำไปใช้ทั้งทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การก่อสร้าง เหมืองแร่ การสำรวจและในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์  แน่นอนว่าระยะห่างสูงสุดระหว่างสถานีฐาน (Base Station) และสถานีเคลื่อนที่ (Rover Station) จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15 กิโลเมตร ไม่เกินจากนี้ ยิ่งระยะห่างระหว่างสถานีฐาน (Base Station) และสถานีเคลื่อนที่ (Rover Station) ห่างกันมากเท่าไหร่ความถูกต้องก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลเดียวที่ระยะห่างไม่ควรเกิน 15 กิโลเมตร 
.
RTK ประกอบด้วย CORS (Base) Reference Station มีศูนย์กลางอยู่ที่การใช้จุดฐานคงที่รู้ค่าที่แน่นนอนเป็นสถานีหลัก 1 สถานี และ User(Rover) Station เครื่องรับที่เคลื่อนที่ โดยหลักการทำงานนั้น CORS(Base) จะทำการคำนวณค่าปรับแก้แล้วส่งไปยังเครื่องรับUser(Rover) ที่เคลื่อนที่ เพื่อนำค่าที่ปรับแก้มาประมวลผล หาค่าพิกัดตำแหน่งที่ถูกต้องและมีความแม่นยำสูง
.
#NetworkRTK
ระบบ Network CORS เป็นสถานีโครงข่ายรับสัญญาณดาวเทียมแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ถูกนำมาแทนที่ในการวางสถานีฐานแบบดั้งเดิม (Base Station)  โครงข่าย RTK  เป็นวิธีการวัดที่สามารถรับความแม่นยำในการระบุตำแหน่งระดับเซนติเมตรแบบเรียลไทม์ในสนาม สามารถให้พิกัดจุดสังเกตสามมิติแบบเรียลไทม์และเข้าถึงความแม่นยำสูงในหน่วยเซนติเมตร และเป็นเทคโนโลยีความแม่นยำสูงที่ใช้ในการรังวัดที่ดิน ซึ่งปัจจุบันนั้นสามารถทำได้ง่ายโดยใช้ระบบเครือข่ายสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร (CORS) หลักการคล้ายคลึงกับวิธีการรังวัดแบบจลน์ในทันที แต่แตกต่างกันที่ต้องขอรหัสผู้ใช้ (USER NAME) จากผู้ให้บริการเครือข่าย (ซึ่งในประเทศไทยให้บริการโดย NCDC และ กรมที่ดิน) โดยผู้ใช้งานใช้เครื่องรับสัญญาณเพียงเครื่องเดียวไปวางในตำแหน่งที่ต้องการทราบค่าพิกัดภายในพื้นที่ให้บริการ วิธีนี้สามารถให้ค่าความถูกต้องในระดับต่ำกว่า 4 เซนติเมตร เลยทีเดียว และปัจจุบันมีการพัฒนาระบบ Network CORS ของแต่ละหน่วยงานรวมเข้าไว้ด้วยกัน ผ่าน Data Center ศูนย์คอมพิวเตอร์ประมวลผลค่าปรับแก้ เรียกว่า NCDC นั่นเอง ทำให้เพิ่ม ระยะห่างระหว่างสถานีฐาน (Base Station) และสถานีเคลื่อนที่ (Rover Station) ห่างกันได้ถึง 80-100 กม.  และเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณค่าพิกัดตำแหน่งที่มีความถูกต้องและแม่นยำสูงอีกด้วย 
.
Network RTK เป็นการนำเอาเทคนิค RTK มาคำนวณเป็นโครงข่าย CORS หลายๆ สถานี เข้าด้วยกัน แบบสถานีอ้างอิงเสมือน (VIRTUAL REFERENCE STATION : VRS) โดยการประมวลผลผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลค่าปรับแก้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณค่าพิกัดตำแหน่งที่ถูกต้องและมีความแม่นยำสูง
.
Network RTK ประกอบด้วย ระบบ Network ที่เชื่อมต่อระหว่าง CORS (Base)  Reference Station หลายๆ สถานีเข้าด้วยกันและUser(Rover) Station เพื่อเชื่อมโยงไปยัง NCDC ศูนย์คอมพิวเตอร์ประมวลผล เพื่อคำนวณหาค่าปรับแก้ก่อนจะส่งต่อให้กับ User (Rover) เพื่อคำนวณหาค่าพิกัดตำแหน่งของ User(Rover) ที่ถูกต้องมีความแม่นยำสูงต่อไป
 .
แล้ว NCDC คืออะไร
NCDC ย่อมาจาก National CORS Data Center คือศูนย์อ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการค่าพิกัดที่มีความถูกต้องสูงที่มีเอกภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป โดยบูรณาการข้อมูลจากสถานีอ้างอิงค่าพิกัดแบบต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศกว่า 250 สถานี ได้แก่จากกรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสถียรภาพให้ค่าพิกัดจากการรังวัดด้วยระบบดาวเทียมนำร่องหรือ GNSS มีความละเอียดถูกต้องมากขึ้น จึงถือเป็นข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและรักษาความมั่นคงให้กับประเทศ เช่น งานสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่และภูมิสารสนเทศ งานรังวัดและจัดทำแปลงที่ดินงานด้านวิศวกรรมและก่อสร้างสาธารณูปโภค งานด้านภัยพิบัติ งานด้านบริหารจัดการน้ำ งานด้านคมนาคมขนส่งและยานยนต์ไร้คนขับ งานด้านเกษตรอัจฉริยะและงานด้านการทหาร เป็นต้น
.
จากการใช้งานและการสนับสนุน NCDC ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ GISTDA ได้ร่วมมือกับ The National Space Policy Secretariat (NSPS), Cabinet Office of Japan สำนักนโยบายกิจการด้านอวกาศจากประเทศ หน่วยงาน Multi GNSS Asia หน่วยงาน GNSS.asia by European Union และหน่วยงานพันธมิตร ในการจัดการ การจัดการแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจ GALILEO & SMART RTK Hackathon เพื่อสร้างและออกแบบนวัตกรรมต้นแบบ ด้าน GNSS ความแม่นยำสูง เพื่อใช้ประโยชน์จากเชิงพาณิชย์ เช่น ด้านการขนส่ง การเกษตร การก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการ ให้มีความสอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและเติบโตได้ได้อย่างยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่ม และเข้าสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเยาวชน ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจทั่วไป ผ่านกิจกรรม S-Booster และ UAV Startup อีกด้วย อนาคตข้างหน้าเราจะเห็นสังคมไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทัดเทียมกับอารยประเทศอย่างแน่นอน แอดมินเชื่อว่าวันนี้หลายคนคงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Network RTK ไปไม่มากไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วพบกันกับเรื่องราวดีๆจากอวกาศที่จะทำให้คุณใกล้ชิดกับอวกาศมากยิ่งขึ้นครับ 
.
ปัจจุบัน GISTDA และหน่วยงานพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนา web service เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://ncdc.in.th/portal/apps/sites/#/ncdc
.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมที่ดิน กรมแผนที่ทหาร และนักวิชาการจาก GISTDA
 

TAG: RTK
phasaphong.tha 22/7/2565 7447 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง