Head GISDTDA

ปฐมบท GISTDA ตอนที่ 1

เมื่อวันเวลาผันผ่านไม่ใช่แค่เพียงอายุของคนเราเท่านั้นที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ทว่ายังรวมถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตของแต่ละคน โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคมและกลวิธีในการจัดการกับปัญหาที่ได้สั่งสมมา ล้วนเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าสำหรับคนรุ่นหลังให้ได้เรียนรู้ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแต่แก่นแท้ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่มุ่งมั่นทำเพื่อการพัฒนาสังคมนั้น “ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”
.
มาวันนี้ GISTDA ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของเรื่องราวในอดีต จึงได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยในรูปแบบหนังสือกาลานุกรม เพื่อบันทึกประสบการณ์ เหตุการณ์ และบทเรียนที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนมาถึงปัจจุบันยุคแห่งการรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อีกทั้งบันทึกความทรงจำแห่งความประทับใจ ในการทำให้อวกาศกลายมาเป็นส่วนหนึ่งชีวิตประชาชนคนไทยได้สำเร็จ 
.
นับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งในโอกาสที่ GISTDA ครบรอบ 21  ปี และเราได้มาพูดคุยกับ ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ อดีตผู้อำนวยการ GISTDA ท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก GISTDA คนสำคัญในยุคแรก และท่านยังเป็นประธานคณะทำงานจัดทำหนังสือกาลานุกรมอีกด้วย ดร.สุวิทย์ ได้เกริ่นนำเนื้อหาในกาลานุกรมที่อยู่ในระหว่างรวบรวมเรื่องราวคุณประโยชน์ที่ GISTDA ทำเพื่อสังคมย้อนหลังไป 21 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้ง และเหตุการณ์ในสมัยนั้นที่จำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานของประเทศไทยเพื่อดูแลภารกิจเกี่ยวกับข้อมูลจากดาวเทียมขึ้นมา
.
“นับว่าเป็นความประทับใจที่ช่วงเวลานั้นประเทศไทยมีผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล” เป็นความรู้สึกของ ดร.สุวิทย์ ที่มีต่อจุดเปลี่ยนสำคัญที่นับว่าเป็นจุดริเริ่มของวงการอวกาศของประเทศไทย นั่นคือการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ NASA ERTS-1 (Landsat-1) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก ในปี พ.ศ. 2514 ภายใต้การกำกับดูแลโดย ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติในสมัยนั้น

นอกจากนั้น ดร.บุญ อินทรัมพรรย์ ผู้ประสานงานโครงการคนแรกซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยมติ ครม. มีหน้าที่ประสานงานให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยได้มาร่วมมือกันและใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมในภารกิจขององค์กร ดร.สุวิทย์ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า หากย้อนไปในยุคนั้น ทั้งสองท่านนี้ถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อสังคมไทยอย่างแท้จริง โดยไม่ถือยศถือตำแหน่งในโครงการขนาดใหญ่แบบนี้โดยไม่ได้เสนอให้แต่งตั้งตนเป็นหัวหน้าโครงการ แต่เป็นแค่เพียงผู้ประสานงานและทุ่มเททำงานภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่
.
ส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จตรงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างดีเยี่ยม จนทำให้รัฐบาลในยุคนั้นเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม จึงได้มีมติอนุมัติให้สร้างสถานีรับสัญญาญดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในเขตลาดกระบัง และต่อมาได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2525 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดินได้สำเร็จ 
.
นอกจากนั้นยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการสร้างสถานีรับสัญญาญฯแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ในการก่อสร้างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้การสร้างสถานีรับสัญญาณฯ สำเร็จลุล่วงได้อย่างตรงตามเป้าหมายได้ตามกำหนด

สถานีรับสัญญาญฯ แห่งนี้มีหน้าที่หลักคือ การรับสัญญาณจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรหลายดวง เช่น LANDSAT, SPOT, RADARSAT-1 ในรัศมี 2,500 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน บางส่วนของอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน รวม 17 ประเทศ พร้อมทั้งผลิตข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อจัดจำหน่ายให้กับหน่วยงานที่สนใจเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

ส่งผลให้ในยุคนั้น นานาประเทศในภูมิภาคนี้ได้เข้ามาซื้อข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT ที่ผลิตจากสถานีรับสัญญาณฯ แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีการรายงานในที่ประชุม Landsat ground station working group ในขณะนั้นว่า ประเทศไทยสามารถทำรายได้จากการขายข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat เป็นลำดับที่ 4 ของโลก
.
การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณฯ นอกจากจะทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียมและผลิตข้อมูลดาวเทียมแล้ว ยังมีการให้บริการให้คำปรึกษาและส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการข้อมูล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด ผลจากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศ ก็ค่อยๆ เป็นที่ประจักษ์ในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง มากขึ้นเรื่อย ๆ

ทำให้รัฐบาลในยุคนั้นเล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและนำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ โดยรวมกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 เป็น "สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)" ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยมีชื่อ ภาษาไทยว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีตัวย่อว่า "สทอภ." และมีชื่อภาษาอังกฤษ "Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization)” ตัวย่อ GISTDA (จิสด้า) โดยมี ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้งฯ
.
เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ฉากเริ่มต้นปฐมบทของพัฒนาการเทคโนโลยีอวกาศไทย ที่เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ก่อให้เกิดโอกาสแห่งการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่ถูกผลักดันด้วยความเพียรพยายามเพื่อจะเอาชนะอุปสรรคของคนแต่ละรุ่น จนเกิดเป็นผลสำเร็จให้เห็นเป็นประจักษ์ดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งควรค่าแก่การบันทึกไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทย 
.
แต่ทว่า เรื่องราวต่อจากนี้ไม่ง่ายนัก ดร.สุวิทย์ได้เล่าให้ฟังว่า หลักจากที่ก่อตั้ง GISTDA ได้สำเร็จ กลับไม่สามารถสรรหาผู้อำนวยการได้ อีกทั้งจากความสำเร็จของการจัดตั้งสถานีรับสัญญาณฯและการจำหน่ายข้อมูลดาวเทียมได้เป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้ต่างชาติตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทย และในทางตรงกันข้ามก็ส่งผลกระทบต่อการออกแบบดาวเทียมธีออสหรือดาวเทียมไทยโชตด้วยเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องคอยติดตามกันในปฐมบท GISTDA ตอนที่ 2
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #THEOS2
#พัฒนาสังคม #กาลานุกรม #นวัตกรรมอวกาศ #วิสัยทัศน์ #ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร #สภาวิจัยแห่งชาติ #สถานีรับสัญญาญดาวเทียม #ลาดกระบัง #ผลิตข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม #Landsat #องค์การมหาชน

Admin 14/12/2564 1260 2
Share :