Head GISDTDA

บุกรุกทำลายป่า..!! รู้ได้ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

บุกรุกป่า

   ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย มีพื้นที่อยู่ 102.35 ล้านไร่ คิดแป็น 31.64 % ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว 0.04 % (ซึ่งปีที่ผ่านมามีพื้นที่ป่าไม้ คิดเป็น 31.68 %) สาเหตุหลักๆมาจากการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อทำมาหากินและทำการเกษตกรรม หากมองไปที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในทุกจังหวัดของประเทศไทย ด้วยการประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ประเทศไทย ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีนโยบายเร่งด่วนในการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติม รวมถึงการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายให้กลับคืนสภาพเป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์คงเดิมต่อไป

   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติต่างๆ มากมาย รวมถึงการให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมหลากหลายความละเอียด ทั้งดาวเทียมสัญชาติไทยและดาวเทียมเครือข่ายความร่วมมือของต่างประเทศ ที่สามารถถ่ายภาพได้เป็นบริเวณกว้าง มีความเป็นปัจจุบัน จึงได้ทำการพัฒนาแบบจำลองในการวิเคราะห์หาจุดเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ จากการเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม 2 ช่วงเวลาแบบอัตโนมัติ และใช้ค่าความสัมพันธ์ของค่าดัชนีพืชพรรณ (Normalized Difference Vegetation Index : NDVI) และ ค่าดัชนีพื้นดิน (Bare Soil Index : SVI) ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการติดตามปัญหาบุกรุกทำลายป่า และช่วยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบสามารถตรวจสอบและจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

   กรมป่าไม้ ร่วมกับ GISTDA พัฒนาระบบปฏิบัติการค้นหาพื้นที่บุกรุกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า “ระบบพิทักษ์ไพร” https://change.forest.go.th เพื่อทำการค้นหาพื้นที่บุกรุกในลักษณะพร้อมใช้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่บุกรุกป่าไม้ รวมถึงการติดตามเฝ้าระวังรักษาป่าไม้ของประเทศ ประกอบไปด้วย การวิเคราะห์จุดต้องสงสัยบุกรุกป่าจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาใกล้เคียงปัจจุบัน การคัดกรองข้อมูลจากชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้เข้าปฏิบัติการ และการรายงานผลการตรวจสอบ ซึ่งกรมป่าไม้เองได้นำระบบฯ ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศ ทวงคืนผืนป่าจากการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่รับผิดชอบ และยังสามารถให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งชี้เป้าเมื่อพบการบุกรุกพื้นที่ป่าได้จากทางระบบนี้เช่นเดียวกัน

   จากข้อมูลจุดบุกรุกพื้นที่ป่าในระบบฯ ตั้งแต่ ตุลาคม ปี 2559 ถึง ปัจจุบัน พบว่า เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งหมด จำนวนประมาณ 1,384 แห่งทั้วประเทศ หรือคิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 8,600 ไร่ โดยพบการบุกรุกพื้นที่ป่ามากสุดในพื้นที่ภาคเหนือ สูงถึง 651 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 323 แห่ง และภาคตะวันตก 207 แห่ง ตามลำดับ และจังหวัดที่พบการบุกรุกมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 328 แห่ง

   ดาวเทียมจึงเปรียบเสมือนดวงตาจากอวกาศ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่คอยสนับสนุนด้านข้อมูลเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยของเรามีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น คือ ทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคนจะต้องสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจให้เกิดการหวงแหน ตลอดจนช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าให้คงไว้ต่อไป เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นครับ

_________________

ขอบคุณข้อมูลจาก 

น.ส.เมธินี ธูปประดิษฐ์
นักภูมิสารสนเทศ

#GISTDA #จิสด้า #จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #ป่าไม้ #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #ภัยพิบัติ

Admin 8/9/2564 5230 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง